สภาวัฒนธรรมอำเภอท่าวังผา ร่วมกับอำเภอท่าวังผา และองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคา คัดเลือกบุคคลและพื้นที่ต้นแบบ ประจำปี พ.ศ. 2566” เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้อุทิศตนและเป็นต้นแบบต่อไป โดย “บ้านสบขุ่น” เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าไปสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ ผ่านการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน ได้รับ 2 รางวัล ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ รางวัลชุมชนต้นแบบ สาขา อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 โดยสภาวัฒนธรรมอำเภอท่าวังผา และรางวัลคนดีศรีป่าคา สาขาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดย องค์การบริหารส่วนตำบลป่าคาและสภาวัฒนธรรมตำบลป่าคา โดยงานจัดขึ้น ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน
โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ดำเนินโครงการ “สบขุ่น โมเดล” กาแฟสร้างป่า สร้างรายได้ อ.ท่าวังผา จ.น่าน จากการที่ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ในประเทศไทย จึงมีนโยบายเข้าไปส่งเสริมการฟื้นฟูป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “Re4Rest” ปลูกเพื่อความยั่งยืน 4 ต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน โดยโครงการ “สบขุ่น โมเดล” เครือซีพีเข้าไปสนับสนุนในด้านการพัฒนาอาชีพ ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรรูปแบบใหม่ ที่เป็นเกษตรมูลค่าสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หมู่บ้านสบขุ่น อ.ท่าวังผา จ.น่าน เป็นระยะเวลากว่า 8 ปี (ตั้งแต่ปี 2558 - 2566)
ทางด้าน นายอรรถวิทย์ ยุทธยศ ผู้จัดการทั่วไป ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือซีพี เริ่มโครงการปลูกกาแฟร่วมกับฟื้นฟูป่าในพื้นที่บ้านสบขุ่น โดยบูรณาการและขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชุมชน ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการสร้างธุรกิจชุมชน สู่ความยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากการสนับสนุนองค์ความรู้ ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกกาแฟและไม้ผลเมืองหนาวฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยลดพื้นที่ในการปลูก เพิ่มพื้นที่ป่า ควบคู่ไปกับการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ที่ยั่งยืน โดยเครือซีพี เข้าไปสนับสนุนครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่ริเริ่มโครงการในปี 2558 จนถึงปัจจุบัน โครงการสบขุ่น โมเดล สามารถส่งเสริมเกษตรกรได้ 117 ครัวเรือน สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่าล้านบาท และเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ 2,148 ไร่ นอกจากนี้ ผลผลิตเมล็ดกาแฟจากการสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรบ้านสบขุ่น ได้ขยายผลต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในร้านทรูคอฟฟี่ในกรุงเทพฯ รวมถึงร้านกาแฟบ้านสบขุ่น ณ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน เครือซีพี จ.น่านอีกด้วย
นายยุทธนา ดวงประภากร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคา กล่าวว่า สำหรับ จ.น่าน มีนโยบายให้ทุกอำเภอสำรวจการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ จึงมีการจัดงานมอบรางวัลให้กับแต่ละคนและแต่ละพื้นที่ในสาขาต่างๆ อาทิ สาขาผู้อุทิศตนเพื่อสังคม สาขานักพัฒนาท้องถิ่น สาขาชุมชนวัฒนธรรมเข้มแข็ง โดยหมูบ้านสบขุ่น ได้รับรางวัลสาขาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยหมูบ้านสบขุ่นได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนอย่างเครือซีพี รวมทั้งชุมชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยมีการปรับเปลี่ยนอาชีพลดพื้นที่การทำเกษตรเชิงเดี่ยว เพื่อคืนผืนป่า ทำให้มีพื้นที่สีเขียวหรือมีป่าที่อุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น มีการส่งเสริมให้ชุมชนร่วมปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่ชาวบ้านจะลดการรุกป่าจากการทำไร่ข้าวโพด หันมาปลูกกาแฟทดแทน ทำให้ชุมชนสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีมาก โดยหลังจากนี้ หน่วยงาน อบต.ป่าคา อบต.ผาช้างน้อย และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านสบขุ่น อ.ท่าวังผา จ.น่าน เชื่อมต่อไปที่ อ.ปง จ.พะเยา ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป
“ขอขอบคุณ เครือซีพีที่เข้ามาช่วยกันพัฒนาชุมชนบ้านสบขุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นที่ปรึกษาให้ทางหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ทั้ง อบต.และหมู่บ้าน มีกรอบการทำงานร่วมกันและเป้าหมายเดียวกัน โดยเข้ามาช่วยในเรื่องของการพัฒนาอาชีพชุมชน ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟ ทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้มากขึ้น ชุมชนก็มีรายได้จากการปลูกกาแฟเพิ่มขึ้นควบคู่กันไป”
นางอ้อย จันทรธิมา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสบขุ่น และกรรมการวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้บ้านสบขุ่น กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ชุมชนบ้านสบขุ่นได้รับรางวัลในครั้งนี้ หลังจากที่เครือซีพีเข้ามาสนับสนุนชุมชน ได้มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน และเข้าร่วมโครงการสบขุ่น โมเดล กาแฟสร้างป่า สร้างรายได้ โดยตนก็ได้เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่รุ่นที่ 1 ปลูกกาแฟมาแล้ว 5 ไร่ และอีก 5 ไร่เป็นไม้ผล เพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดียว ทำให้หมู่บ้านสบขุ่นมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นทุกปีๆ และมีรายได้ให้เกษตรกร นอกจากนี้ ชุมชนยังร่วมกันปลอดเผาในช่วงระยะเวลาตามกฎหมายกำหนด มีการทำแนวกันไฟของแต่ละแปลง ไม่ให้ลามเข้าไปในพื้นที่ป่า ขอขอบคุณเครือซีพีที่เข้ามาสนับสนุนการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ไปพร้อมกับการสร้างป่า สนับสนุนองค์ความรู้ในการจัดการแปลง สนับสนุนกล้าไม้ ไม้ผลต่างๆ มีการทำฝายกักเก็บน้ำ บ่อเก็บน้ำใช้ในการเกษตร เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน