ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นการดำเนินงานซึ่งเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเน้นการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายตลาดนำการผลิต นำไปสู่การจัดการสินค้าเกษตรได้อย่างมั่นคงในอนาคต 

ความเป็นมาแปลงใหญ่ผักนิคมเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรได้เริ่มปลูกผักอินทรีย์เมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าแปลง บางครั้งผลผลิตผักล้นตลาดพ่อค้าคนกลางกดราคาสินค้าจึงได้มีแนวคิดในการรวมกลุ่มเพื่อรวบรวมผลผลิตและต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งเพื่อการลดต้นทุนการผลิตผักและผลิตผักให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง และได้รับการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน สปก.ในการดำเนินการ จำนวน 38 ไร่ ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์แปลงใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยมีนายชัยชนะ สืบสิงห์ เป็นประธาน มีสมาชิก 32 ราย  พื้นที่ดำเนินการ 38 ไร่ (แปลงรวม 26 ไร่, โรงเรือน 12 ไร่) ปี พ.ศ.2564 กลุ่มแปลงใหญ่ได้ดำเนินการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท ชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ผักอินทรีย์แปลงใหญ่ อ.วังน้ำเขียว และได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยการเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ในการจัดหาปัจจัยการผลิต วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อนำไปใช้ในการผลิตเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ชนิดผักที่ปลูกมีทั้งหมด จำนวน 37 ชนิด ได้แก่ สลัดแก้ว กรีนโอ๊ค เรดโอ็ค คอส เบบี้คอส เรดคอรอล ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก เบบี้แครอท เคล ไดโนเคล สวิทชาร์ท คะน้าฮ่องกง คะน้ายอด กวางตุ้งใบ กวางตุ้งฮ่องเต้ กะหล่ำปลี ผักโขมเขียว ผักโขมแดง ผักโขมลาย จิงจูฉ่าย ยอดฟักแม้ว พริกไทยอ่อน พริกขี้หนูสวน พริกหนุ่ม ผักชีไทย ผักคื่นช่าย มะเขือเทศราชินี แตงกวา ถั่วพูเขียวและม่วง ถั่วแขก มะเขือม่วงหยดน้ำ วอเตอร์เคส หอมแบ่ง หอมญี่ปุ่น ฟักทองแก่ ซูกินี่ และปวยเล้ง ผลผลิตผ่านมารับรองมาตรฐาน Organic Thailand ทุกแปลง ตลาดรับซื้อผลผลิตที่สำคัญ คือ รังสิตฟาร์ม และร้านค้ารายย่อยในพื้นที่/นอกพื้นที่ รวมทั้งนักท่องเที่ยว ราคาผลผลิตผักสลัด ราคาส่งกิโลกรัมละ 70 บาท ราคาปลีก กิโลกรัมละ 80 - 100 บาท ราคาผลผลิตผักพื้นบ้าน ราคาส่ง กิโลกรัมละ 50 บาท ราคาปลีกกิโลกรัมละ 60 - 70 บาทการบริหารจัดการกลุ่มแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพตามที่ลูกค้าต้องการ

กลุ่มแปลงใหญ่พืชผักอำเภอวังน้ำเขียว มีการบริหารจัดการโดยคณะทำงานประกอบด้วย ประธาน กรรมการ สมาชิก มีเงินกองทุนกลุ่มและการบริหารจัดการกลุ่มโดยยึดกฎระเบียบที่สมาชิกร่วมกันกำหนดขึ้นมา นอกจากนี้ยังเป็นเครือข่ายของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอวังน้ำเขียวด้วย หน่วยงานภาคีต่าง ๆ ที่เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มแปลงใหญ่ ได้แก่ สำนักงานปฏิรูปที่ดินนครราชสีมา กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานเกษตรอำเภอวังน้ำเขียว โครงการความร่วมมือระหว่างเยอรมัน – ไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนา การทำเกษตรแปลงใหญ่อย่างยั่งยืนในประเทศไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ๕ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานพานิชย์จังหวัดนครราชสีมา บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ สถาบันการศึกษา และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (มกอช.)

ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 

1. ด้านพื้นที่  ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทุกชนิดในการทำการเกษตร ทุกขั้นตอนของการทำการเกษตร เกษตรกรใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มูลวัว มูลไก่ นํ้าไส้เดือน ปุ๋ยหมักน้ำหมักชีวภาพภาพในการควบคุมวัชพืชและแมลงศัตรูพืชนั้น เกษตรกรใช้น้ำหมักสมุนไพรในการไล่แมลง ใช้การถอนหญ้า ดายหญ้าแทนการฉีดยาฆ่าหญ้า ซึ่งเป็นการส่งผลดีต่อร่างกายของเกษตรกรและไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิต ในดิน หรือในแหล่งน้ำ มีการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

2. ด้านคน เกษตรกรมีอาชีพมั่นคงไม่ต้องออกไปทำงานนอกพื้นที่ ได้อยู่กับครอบครัว มีรายได้ที่พอเพียงต่อการดำรงชีวิต สามารถปลูกผักได้ตลอดปี มีรายได้เลี้ยงครอบครัว และมีตลาดรองรับแน่นอน ได้ราคาตามที่กลุ่มต้องการ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เกิดความสามัคคีในชุมชน รายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มจาก 120,000 บาทต่อปี เป็น 200,000 บาทต่อปี (หลังจากมีโรงเรือน) รายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 66.66 ตั้งแต่ปี 2559 

3. ด้านสินค้า ผลผลิตผักผ่านการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand โดยได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร 

4. ด้านอื่นๆ เกิดกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่ม คือ เกิดผู้นําตามธรรมชาติและมีกระบวนการการพัฒนากลุ่มสมาชิกให้เกิดความสามัคคี ได้รับการอบรมสัมมนาวิชาการเกิดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพทางการเกษตรอยู่เสมอ สมาชิกในกลุ่มต้องมีความสามัคคีรับฟังความคิดเห็นและยอมรับเหตุผลซึ่งกันและกันคอยดูแลเอาใจใส่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันสร้างความผูกพันและเอื้ออาทรต่อกัน โดยมีการพูดคุยปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้การทำผักเป็นประจำทุกสัปดาห์ผ่านการประชุมแยกสมาชิกออกเป็นกลุ่มย่อยและให้สมาชิกสมาชิกดูแลซึ่งกันและกัน

นายอาคม บุญวิเศษ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาการตำแหน่งเกษตรอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานเกษตรอำเภอวังน้ำเขียวก ได้สนับสนุนกลุ่มแปลงใหญ่โดยเน้นให้กลุ่มแปลงใหญ่มีการรวมตัวให้ทำกิจกรรมร่วมกัน การถ่ายทอดองค์ความรู้ สนับสนุนงบประมาณบางส่วนให้สามารถดำเนินกิจกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มรายได้ในพื้นที่ได้ตามความต้องการของเกษตรกร เกษตรกรมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการผลิตกรมส่งเสริมการเกษตรได้สนับสนุนโรงเรือนสำหรับผลิตผักนอกฤดู คือฤดูฝน  และฤดูร้อน  ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ เกษตรกรสามารถผลิตในช่วงฤดูฝนกับฤดูร้อนได้ ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ การเพิ่มประสิทธิภาพและการเพิ่มมูลค่าในการแปรรูป กลุ่มเกษตรกรมีความต้องการที่จะแปรรูปผัก เช่น ผักกลุ่มเคลล์ ทำเป็นผักอบแห้ง