นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 24 (24th MSC) เพื่อรับรองผลการประชุมคณะทำงานภายใต้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 23 (24th TWG) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ซึ่งนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้ตน (นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมทั้ง 2 วันได้มีการหารือร่วมกับประเทศบรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ สิงคโปร์ เพื่อสรุปสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียนตอนล่าง
นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รายงานถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานกลาง ASEAN Coordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control ณ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อประสานการดำเนินงานการป้องการและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน โดยอินโดนีเซียได้รายงานแผนการจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวว่าจะให้มีการลงนามกับประเทศสมาชิกในการจัดตั้งศูนย์ฯ และจะให้มีเริ่มการดำเนินงานของศูนย์ดังกล่าวได้ในช่วงปลายปี 2566 นี้
สำหรับประเทศไทย ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงความสำเร็จในการดำเนินงานป้องกันปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง 3 ปี ซึ่งค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ไม่เกินค่ามาตรฐานในช่วงเวลาที่เฝ้าระวัง อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้เตรียมรับมือปัญหาในปี 2566 โดยดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รายงานการสร้างความร่วมมือของประเทศใน
อนุภูมิภาคแม่โขง ซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำสามฝ่ายระหว่างไทย–สปป.ลาว–เมียนมา เพื่อหารือแนวทางการจัดการปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนร่วมกันโดยใช้ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)” ที่เสนอโดยประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่เกิดขึ้น และประเทศไทยได้สนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพการจัดการปัญหาการเผาในที่โล่งให้ประเทศเพื่อนบ้านผ่านการอบรมการจัดการหมอกควันข้ามแดนให้เมียนมา และ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา และประเทศไทยได้ขอให้สิงคโปร์แลกเปลี่ยนเรียนรู้การกำหนดระเบียบข้อบังคับ ในการควบคุมการเผาในที่โล่งจากการประกอบกิจการ เพื่อควบคุมปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประเทศไทยจะได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปขยายผลในอนุภูมิภาคแม่โขงต่อไป