ปัจจุบันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ที่มีการขยายตัว อย่างต่อเนื่องตามภาวะการเจริญเติบโตของภาคปศุสัตว์ โดยเฉพาะไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ถึงแม้จะมีความต้องการใช้ของภาคปศุสัตว์ แต่เกษตรกรยังประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำในช่วงต้นฤดู เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดในฤดูฝน และมีจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน 

นายปรีชา สายแสง เกษตรจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า แปลงใหญ่ของจังหวัดสระบุรี มีทั้งหมด 80 แปลง มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่กว่า 4,200 ราย มีพื้นที่รวมกว่า 1.1 แสน ไร่ ซึ่งแบ่งเป็นสินค้าด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ โดยที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติจะมีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนใหญ่  ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด  โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรีมุ่งเน้นการยกระดับแปลงใหญ่ให้เกษตรกรเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีคุณภาพ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น มีการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตร (GAP) มีการเชื่อมโยงในด้านการผลิตและการตลาด ตลอดจนส่งเสริมให้แปลงใหญ่สามารถบริหารจัดการตนเอง เพื่อให้กลุ่มสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน

นายโกสินทร์ แสงสวงค์ เกษตรอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า  สำนักงานเกษตรอำเภอเฉลิมพระเกียรติมีแนวทางการส่งเสริมตามโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันผลิต รวมกันซื้อปัจจัยการผลิต เพื่อลดต้นทุน รวมถึงรวมกลุ่มเพื่อจำหน่ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิต เพื่อทดแทนแรงงาน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี เช่น เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราไตรโคเดอร์มา ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต โดยการใช้เทคโนโลยีเรื่องระบบน้ำ การเตรียมดินโดยใช้เครื่องไถระเบิดดินดานปรับปรุงโครงสร้างดิน การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP) เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ส่งเสริมและประสานการเชื่อมโยงตลาดกับภาคเอกชน เช่น เบทาโกร สยามแมคโคร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พุแคโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ได้ราคาที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการกลุ่มในรูปแบบคณะกรรมการ โดยพัฒนาจากกลุ่มส่งเสริมอาชีพเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และพัฒนาเป็นกลุ่มประเภทนิติบุคคล ซึ่งถือว่ากลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พุแค เป็นกลุ่มเกษตรกรต้นแบบที่มีความเข้มแข็ง โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอเป็นที่ปรึกษาให้อย่างเสมอมา

นายถนอม เขียวอ้อม ประธานแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตำบลพุแค หมู่ที่ 4 ตำบลพุแค อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พุแค มีสมาชิก 67 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 2,600 ไร่เศษ เกษตรกรในกลุ่มจะมีการเพาะปลูกข้าวโพดปีละครั้ง ได้ผลผลิตรวมประมาณ 2,800 ตันเศษ  มีการรวมกลุ่มประชุมกันเพื่อวางแผนการบริหารจัดการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รวมกันซื้อปัจจัยการผลิต เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับร้านค้า/บริษัท ทำให้สามารถซื้อปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีราคาถูกลง สมาชิกแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พุแคยังดำเนินการผลิตตามมาตรฐาน GAP ซึ่งเป็นการประกันได้ว่าสมาชิกแปลงใหญ่มีการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรจากสำนักงานเกษตรอำเภอเฉลิมพระเกียรติเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ ส่งเสริมความรู้การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามหลักวิชาการ ทำการเกษตรอย่างถูกวิธี และมีความเหมาะสม รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้สูงขึ้น และมีการทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัทรับซื้อผลผลิต ช่วยทำให้กลุ่มแปลงใหญ่มีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตเพิ่มมากขึ้น สร้างอำนาจต่อรองในด้านราคาผลผลิต เกิดความมั่นคงด้านการตลาด

แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตำบลพุแค นอกจากรวมกันซื้อปัจจัยการผลิต และรวมกันขายผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้ว คณะกรรมการแปลงใหญ่ยังได้นำเครื่องจักรกลการเกษตรที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดมาให้บริการแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป โดยเก็บค่าบริการในอัตราที่ถูกกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ทำให้แปลงใหญ่มีรายได้ที่สามารถนำมาบริหารจัดการกลุ่มเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่สมาชิก สร้างความมั่นคงทางอาชีพ  เกิดความเข้มแข็งในชุมชนและเป็นแหล่งเกษตรต้นแบบที่สามารถขยายผลให้แก่กลุ่มเกษตรกรอื่นๆ ได้อีกด้วย