สำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดย นายอรุณ เหมือนตา เกษตรกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า พื้นที่ทำการเกษตรแขวงโคกแฝด เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการผลิตข้าว มีพื้นที่ปลูกข้าวจำนวน 2,345 ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาภาวะต้นทุนการผลิตสูง ราคาผลผลิตไม่แน่นอน สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม มลพิษฝุ่นควัน และภัยธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโรคและแมลงศัตรูข้าวระบาด และปัญหาเกษตรกรผู้สูงวัยที่มีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน 

นายอรุณ กล่าวต่อว่า เกษตรกรมีความต้องการพัฒนาศักยภาพการผลิตให้ใด้มาตรฐาน รวมทั้งต้องการพัฒนาความรู้และทักษะด้านวิชาการเกษตรเพิ่มมากขึ้น สำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้มีการเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้มีการบริหารจัดการในรูปแบบกลุ่ม เพิ่มอำนาจในการต่อรองกับผู้ประกอบการและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงบประมาณในการพัฒนากลุ่มจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยสำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งสนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เพื่อให้เกษตรกรสามารถจัดซื้อเครื่องมือ เครื่องจักรกลสมัยใหม่ มาใช้ในการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของกลุ่มฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แปลงใหญ่ข้าวแขวงโคกแฝด ตั้งอยู่ ณ หมู่ 4 แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร จากการรวมกลุ่มสมาชิกเกษตรกรผู้ทำนาในพื้นที่แขวงโคกแฝด ในปี พ.ศ. 2561 มีสมาชิกจำนวน 32 ราย พื้นที่ปลูก 866 ไร่ โดยมี นายประเสริฐ ภู่เงิน เป็นประธานแปลง ปลูกข้าวพื้นนุ่มพันธุ์ต่างๆ เช่น กข 79 กข 85 พิษณุโลก 2 กข 57 กข 41 เป็นต้น

นายประเสริฐ ภู่เงิน ประธานแปลงใหญ่ข้าวแขวงโคกแฝด กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่มีการใช้สารเคมีในปริมาณสูง ไม่มีการสำรวจโรคแมลงศัตรูพืชก่อนใช้สารเคมี สภาพดินเสื่อมโทรม ไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้มีการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง หลังจากรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ ทำให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูลองค์ความรู้วิชาการ รวมทั้งการได้รับสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งทางกลุ่มฯ เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ได้รับงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือ เครื่องจักรกลต่างๆ ที่ทำให้ช่วยให้ลดต้นทุนด้านการใช้แรงงาน ลดการเผาในแปลงนา และเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก 

นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า แปลงใหญ่ข้าวแขวงโคกแฝด มีการกำหนดกฎระเบียบและข้อตกลงร่วมของกลุ่ม มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการกลุ่ม และคณะกรรมการบริหารเครื่องจักรกลส่วนต่างๆ มอบหมายหน้าที่กันอย่างชัดเจน การควบคุมบัญชีรายรับรายจ่าย และมีการประชุมวางแผนการบริหารจัดการกลุ่มอย่างต่อเนื่อง จากการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ ได้รับการถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม จากเจ้าหน้าที่หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันการศึกษาต่างๆ และบริษัทเอกชน ทำให้กลุ่มฯ ได้มีการพัฒนาระบบการผลิตของกลุ่ม สามารถลดต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงาน ลดการใช้สารเคมีโดยใช้ชีวภัณฑ์ทดแทน ลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และสมาชิกมีรายได้เพิ่มจากการอัดฟางก้อนขายอีกทางหนึ่ง 

กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวแขวงโคกแฝด นำเครื่องจักรต่างๆ มาใช้ในการผลิตทั้งระบบ ตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยว อาทิ รถแทรกเตอร์พร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วงชนิดต่างๆ รถพ่นยา หว่านปุ๋ย ตัดใบข้าว เครื่องอัดฟาง เป็นต้น มีการบริหารจัดการกลุ่มที่ดี ทำให้สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าวอย่างครบวงจร และสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มได้อย่างยั่งยืน