เมื่อวันที่ 28 พ.ค.66 เพจเฟซบุ๊ก "กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร" โพสต์ข้อความระบุว่า ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กทม. ประจำวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจวัดได้ 16-37 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.)

ดัชนีคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดของกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่อยู่ในระดับคุณภาพอากาศดีมาก

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

พายุฝนฟ้าคะนอง ฝน 40% ของพื้นที่

ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง(คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่นPM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา)
ในช่วงวันที่ 28 – 31 พ.ค. 2566 การระบายอากาศค่อนข้างดีถึงดีมาก ส่งผลให้ฝุ่นละอองแพร่กระจายได้ดี แม้ว่าชั้นบรรยากาศใกล้ผิวพื้นค่อนข้างปิดสลับเปิด อย่างไรก็ตามมีโอกาสเกิดฝนระหว่างสัปดาห์ จึงส่งผลให้คุณภาพอากาศดี และวันนี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากในระหว่างบ่ายถึงค่ำ โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน

ในช่วงวันที่ 28 พ.ค. – 3 มิ.ย. 2566 สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2566 เป็นต้นไปสถานการณ์จะมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที

จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA ไม่พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร

สำนักสิ่งแวดล้อมได้ประสานแจ้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มความเข้มงวดการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง เพื่อเป็นการบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน