วันที่ 24 พ.ค.66 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ด้วยกรมการข้าวจัดงานรณรงค์ถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตด้านเกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2566 ที่ส่วนกลางจะจัดขึ้นในวันที่ 5-7 มิถุนายน 2566 ณ กรมการข้าว ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และในส่วนของภูมิภาค ในปีนี้จัดขึ้นทั้งหมด 2 แห่ง ประกอบด้วย การจัดงานในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จัดขึ้นที่ ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ในวันที่ 16-17 มิถุนายน 2566 และการจัดงานในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จัดขึ้นที่ Korat Hall ชั้น 4 เซ็นทรัล นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 22 -23 มิถุนายน 2566

อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่มีอันตรายต่อสุขภาพ ที่บางส่วนมีสาเหตุมาจากการเผาพื้นที่ทำกินในการทำการเกษตร เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก นอกจากนั้นยังส่งผลต่อชั้นบรรยากาศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผา ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก และเกิดปัญหาค่ามลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการดำเนินชีวิตและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายจังหวัด

“ผมให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้นการจัดงานทั้ง 3 แห่ง จึงได้เปิดโอกาสให้ชาวนา ผู้ที่สนใจ ได้รับความรู้ในเรื่องคาร์บอนเครดิต ซึ่งสามารถขายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง โดยกรมการข้าวจะเปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อขายคาร์บอนเครดิต ผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ในบริเวณการจัดงานทั้ง 3 แห่ง คาร์บอนเครดิต เป็นสิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถวัดปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดย เปิดบัญชี T-VER credit กับ อบก. และซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการที่ต้องการขายคาร์บอนเครดิตของตนโดยไม่ผ่านตลาด”

ที่ผ่านมา กรมการข้าวได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบันมาโดยตลอด จึงมอบหมายให้สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ เข้ามาส่งเสริม ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวนาในเรื่องของคาร์บอนเครดิต เพื่อทำความเข้าใจถึงคำว่าคาร์บอนเครดิต สร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ที่พี่น้องชาวนาจะได้รับหากมีการทำคาร์บอนเครดิตขึ้น ตลอดจนประโยชน์ของตลาดคาร์บอนเครดิตที่พี่น้องชาวนาจะได้รับ