วันที่ 23 พ.ค.66 เพจเฟซบุ๊ก LIRT : คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โพสนต์ข้อความระบุว่า...
การป้องกันการรัฐประหาร
กรณีศึกษาแนวทางการควบคุมทหารโดยพลเรือนในต่างประเทศ
ประเทศอินโดนีเชียเป็นประเทศหนึ่งที่พยายามปฏิรูปกองทัพเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่การควบคุมกองทัพโดยพลเรือน ซึ่งทหารอินโดนีเซียในยุคของประธานาธิบดีซูฮาร์โตปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักการ "Dwifungsi"(Dual Function) หรือ "บทบาทสองด้าน" ที่ระบุว่า
กองทัพอินโดนีเซียต้องรักษาความมั่นคงของชาติจากภัยคุกคามภายนอก และต้องดูแลรักษาระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
หลักการดังกล่าวให้อำนาจ ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจแก่กองทัพอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก อีกทั้งทหารยังเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี มีอำนาจในการปกครองท้องถิ่นทุกระดับ มีการเข้าควบคุมกิจการที่เป็นของรัฐและเอกชน
ในปี 2541 เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ในประเทศอินโดนีเซียโดยนักศึกษาและประชาชน
เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ส่งผลให้ประธานาธิบดีซูฮาร์โตประกาศลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2541
เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องมาจากความต้องการประชาธิปไตย ประกอบกับความรู้สึกต่อต้านของสังคมต่อทหาร ทำให้กองทัพอินโดนีเซียและรัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปเพื่อให้ทหารออกจากการเมืองและกลับเข้าสู่กรมกอง โดยได้มีการกำหนดมาตรการปฏิรูปกองทัพไว้ 2 มาตรการหลัก คือ
มาตรการที่ 1 การเพิ่มความเป็นทหารอาชีพ อาทิ
1) เพิ่มทักษะด้านเทคนิคให้ทหาร
2 ยกเลิกบทเรียนด้านสังคมและการเมือง และเพิ่มเติมบทเรียนด้านกฎหมายมนุษยธรรมในหลักสูตรการเรียนการสอนของทหาร
3) เปลี่ยนแปลงบทบาทของกองทัพ โดยยกเลิกหน้าที่ด้านการบังคับใช้กฎหมาย การฝึกทหาร
กองหนุน และการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม
มาตรการที่ 2 การลดอำนาจของทหารในทางการเมือง อาทิ
1) ถอดถอนตัวแทนของทหารออกจากองค์กรนิติบัญญัติ
2) โยกย้ายศาลทหาร จากเดิมที่เคยอยู่ภายใต้กองทัพ ไปอยู่ภายใต้ศาลสูงสุด
3) ออกกฎหมายให้การดำเนินนโยบายกลาโหมอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐสภา
4) ออกกฎหมายห้ามไม่ให้ทหารมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจ และให้กองทัพปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน หลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนรวมไปถึงกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศ
5) จัดตั้ง "defense policy community" เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมและนักวิชาการ
ได้เข้าร่วมกับผู้ออกนโยบาย กองทัพ และสมาชิกรัฐสภา ในการอภิปรายและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับความมั่นคงและการป้องกันประเทศ
การปฏิรูปดังกล่าวส่งผลให้อำนาจของสถาบันทหารในโครงสร้างการเมืองที่เป็นทางการ (formal politics) ลดลงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เชิญท่านที่สนใจการปฏิรูปกองทัพอ่านรายละเอียดตามลิงก์ที่ให้ไว้ได้เลยค่ะ
เอกสารประกอบการพิจารณา ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต