วันที่ 21 พ.ค.66 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)ประชาสัมพันธ์เตือนภัย การสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ แนะนำศึกษาข้อมูล และตรวจสอบให้รอบด้าน ดังนี้

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ กรณีอินฟลูเอนเซอร์และบิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการโฆษณาขายแผ่นแปะลดน้ำหนัก พร้อมรูปภาพผู้ใช้สินค้าซึ่งมีรูปร่างผอมเกินความเป็นจริง มีการอวดอ้างว่าน้ำหนักลดเร็วมาก ให้กับประชาชนทั่วไปผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในราคาถูก โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากนั้น ที่ผ่านมาพบว่าภัยจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่การซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า หรือซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไปจนถึงการใช้หลักฐานการโอนเงินปลอมเพื่อหลอกลวงผู้ขายสินค้า รวมไปถึงการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง นอกจากนี้แล้วสินค้าบางชนิดอาจจะทำให้ผู้ที่สั่งซื้อไปใช้งานเกิดอันตรายแก่ร่างกาย หรืออาจเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ เบื้องต้นจากการตรวจสอบได้มีการลบโพสต์การประกาศขายสินค้าดังกล่าวแล้ว

การกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ ฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อาญา มาตรา 343 จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ตาม พ.ร.บ.อาหาร มาตรา 40 จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, โฆษณาอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับไม่เกิน 5,000 บาท และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) ” จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ” และความผิดฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การซื้อสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะนอกจากจะเสี่ยงถูกมิจฉาชีพหลอกลวงสูญเสียทรัพย์สินแล้ว สินค้าบางชนิดที่สั่งซื้อมาหากนำมาใช้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มักโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และฝากไปยังผู้มีชื่อเสียง หรือผู้รับรีวิวสินค้า หากไม่ได้ใช้งานจริงก็ควรระบุให้ชัดเจนให้ผู้ใช้นำไปประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ตามการหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ ยังคงมีผู้เสียหายมากเป็นอันดับที่ 1 จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ 1 มี.ค.65 - 14 พ.ค.66 พบว่ามีจำนวน 94,712 เรื่อง คิดเป็น 36.66% ของการหลอกลวงทั้งหมด

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรซื้อจากร้านค้าที่เป็นทางการเท่านั้น

2.ระมัดระวังการซื้อสินค้าราคาถูก จำไว้ว่า ของฟรีไม่มีในโลก ของถูกต้องถูกอย่างมีเหตุผล

3.ระมัดระวังการโฆษณาสินค้า กล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยในส่วนของผู้ที่จะรับงานรีวิวสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดสินค้าให้ดีเสียก่อน

4.ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าบางชนิดจะต้องมีเครื่องหมาย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ผ่านการพิจารณาด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัยแล้ว ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อนเพื่อป้องกันอันตรายที่จะตามมา

5.การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจำเป็นอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยผลิตภัณฑ์จำนวนมากมักโฆษณาว่ามีเลข อย. แต่ไม่ได้ระบุเลขที่อนุญาตโฆษณาด้วย

6.ตรวจสอบการอนุญาตได้ที่ https://porta.fda.moph.go.th/.../SEARCH_CENTER_MAIN.aspx

7.ตรวจสอบการรีวิวสินค้า ผู้ที่เคยสั่งซื้อได้รับสินค้าหรือไม่ คุณภาพสินค้าเป็นอย่างไร รวมถึงขอดูภาพสินค้าหลายๆ มุม สอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

8.หากต้องการลดน้ำหนัก ควรใช้วิธีที่ปลอดภัย เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย เป็นต้น

9.ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน ตัวตนของผู้ขาย และหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, Blacklistseller, chaladohn เป็นต้น