“ซูเปอร์โพล” เผยผลสำรวจเยาวชน ร้อยละ 42.6 สนใจผลิตสื่อ อยากเป็นเน็ตไอดอล ทำธุรกิจออนไลน์ พบมีจิตสำนึกรับผิดชอบสังคม ต้านใช้ภาษาบูลลี่คุกคาม แนะผู้ใหญ่รับฟังเสียงเด็ก ชี้ผลเลือกตั้งสะท้อนพลังคนรุ่นใหม่ เปลี่ยนแปลงสังคมได้
วันที่ 17 พ.ค.66 ที่โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ นายนพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้ง สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดการสัมมนาโครงการส่งเสริมและสนับสนุนแก่เยาวชนในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่อาชีพด้านวิทยุโทรทัศน์ในการจัดทำรายการตามหลักจริยธรรม และคุณธรรม ที่ซูเปอร์โพล ได้ร่วมกับกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (สำนักงาน กทปส.) โดยมีตัวแทนเยาวชนจากสถานศึกษา และตัวแทนจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมจากเทคโนโลยี (บช.สอท.) เข้าร่วมสัมมนา โดยนายนพดล กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อมของเยาวชน เพื่อเข้าสู่อาชีพวิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งภาพเดิมคนจะมองว่าเด็กคือเด็ก ขาดการยับยั้งชั่งใจ ทางโครงการจึงต้องการสร้างความคิดเห็นของเด็ก จึงได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเยาวชน โดยมีเยาวชน อายุ 18-24 ปี จากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการวิจัย จำนวน 32,000 ราย แล้วพบว่าภาพเดิมผู้ใหญ่จะมองว่าเด็กก็คือเด็ก ขาดการยับยั้งชั่งใจ แต่เมื่อสำรวจความคิดเห็นกับเยาวชนแล้วพบว่า เยาวชนมีสำนึก และรู้เท่าทัน บางเรื่องรู้เกินกว่าที่ผู้ใหญ่คาด และบอกถึงปัญหาที่เขาเจอ ซึ่งแยกได้เป็นด้านภาษา คือมีการใช้ภาษาละเมิดกฎหมาย ละเมิดคุณธรรมจริยธรรม เช่น การใช้ภาษาสร้างความเกลียดชัง การใช้ภาษาบูลลี่ และคุกคาม การละเมิดสิทธิเสรีภาพ ทรัพย์สินทางปัญญา การคุกคามสิทธิส่วนบุคคล และรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่ในโลกออนไลน์
นายนพดล ยังกล่าวอีกว่า การสำรวจยังพบว่าเยาวชน GEN Z ร้อยละ 42.6 มีความสนใจที่จะใช้สื่อดิจิทัลในลักษณะของการเป็นผู้ผลิต เพื่อเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ เป็นเน็ตไอดอลหาเงินจากโลกออนไลน์ และเพื่อสร้างความสุขให้ตัวเอง โดยเยาวชนรู้ว่าตัวเองสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อเองได้ ผลสำรวจดังกล่าวทำให้เราเห็นความสำคัญว่า จำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมของเยาวชนในการเข้าสู่อาชีพนี้ เพราะเยาวชนทุกคนจะสามารถเป็นสื่อได้
“เดิมเรามีสื่อเพียงไม่กี่ช่อง แต่ทุกวันนี้ มีเป็นล้าน ๆ ช่อง โดยทุกคนเป็นทั้งผู้รับ ผู้ส่ง และผู้สร้าง จึงต้องมีหลักสูตรก้าวแรกในการเตรียมเยาวชนสู่การเป็นนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ บนพื้นฐานของการมีคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งในหลักสูตร จะมีเนื้อหาเรื่องการรู้เท่าทันธุรกิจสื่อ กลไกการใช้สื่อ และการทำสื่อเพื่อความดีส่วนรวม และความสุขส่วนตัว” นายนพดล กล่าว และว่า เมื่อเด็กบอกว่าเจอปัญหาการคุกคาม ปัญหาการใช้ภาษาที่รุนแรงในโลกโซเชี่ยล ในการสัมมนาจึงได้มีการเชิญตำรวจไซเบอร์ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาดูเรื่องความปลอดภัย มาฟังเสียงของเยาวชน เพราะนอกจากจะนำไปทำหลักสูตรแล้ว จะต้องนำไปสู่การมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือผู้ใหญ่ และเยาวชนต้องทำงานร่วมกัน ผู้ใหญ่ต้องไม่มองว่าตัวเองอาบน้ำร้อนมาก่อน แต่ต้องมองว่าเยาวชนคือขุมพลังสำคัญของชาติ โดยเราเห็นแล้วจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่พลังของเด็ก และเยาวชนรุ่นใหม่เปลี่ยนสังคมได้ นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยี และแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มความดีส่วนรวม โดยให้เด็ก และเยาวชนอยู่รอดได้ มีเครื่องมือทำมาหากิน แต่เราจะต้องลดปัญหาทางด้านภาษาไม่ให้มีการสร้างความเกลียดชังต่อกัน และเมื่อเขาสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อได้ และขับเคลื่อนสังคมในเครือข่ายเน็ตเวิร์คไปในทางที่ดีได้ ก็จะทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ นี่คือเจตนาของการทำหลักสูตรนี้