ความเป็นมาของวันพืชมงคล สร้างขวัญกำลังใจเกษตรกรไทย

วันพืชมงคลคือ วันที่กำหนดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นับว่าเป็นพระราชพิธีที่มีความเก่าแก่สืบต่อมาตั้งแต่โบราณเพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกรของชาติ อีกทั้งยังเป็นการระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งการจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้มีสืบเนื่องมาตั้งแต่เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย การประกอบพระราชพิธีจะกระทำขึ้นที่ท้องสนามหลวง อันประกอบด้วย 2 พระราชพิธีคือ พระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่มีความแตกต่างกัน

พิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ อาทิ ข้าวเปลือกจ้าว ข้าวเหนียว ข้างฟ่าง ข้าวโพก ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น การประกอบพิธีพืชมงคลก็เพื่อให้พันธ์ุเหล่านั้นปราศจากโรคภัย และอุดมสมบูรณ์ มีความเจริญงอกงามดี

พิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีที่เริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว ซึ่งการประกอบพิธีแรกนาขวัญนี้ก็เพื่อให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ ฤดูกาลแห่งการทำนา ทำไร่ และเพาะปลูกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในสมัยโบราณเป็นพิธีที่มีความมุ่งหมายเพื่อบำรุงขวัญและเตือนเกษตรกรให้ปลูกพืชผลโดยเฉพาะการทำนา เพราะข้าวเป็นธัญญาหารหลักสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิต พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศจึงเป็นผู้นำลงมือไถนาและหว่านพืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นตัวอย่าง เพื่อเตือนราษฎรว่าถึงเวลาทำการเพาะปลูกแล้ว

ต่อมา เมื่อพระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศมีพระราชภารกิจอื่น จึงโปรดแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คือ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ เรียกว่า พระยาแรกนา ทำหน้าที่ไถนาและหว่านธัญพืช พระมเหสีหรือพระชายาที่เคยร่วมไถนาหว่าน ก็เปลี่ยนเป็นท้าวนางในราชสำนัก ออกไปทำหน้าที่หาบกระบุงพันธุ์พืชช่วยพระยาแรกนา เรียกว่า เทพี

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีชนหลายเชื้อชาติที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน ได้แก่ อินเดีย จีน และกัมพูชา สำหรับประเทศไทยนั้น มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยและได้ปฏิบัติสืบต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่กระทำในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีแต่พิธีพราหมณ์ตามแบบสมัยอยุธยา ไม่มีพิธีสงฆ์

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพิธีสงฆ์ร่วมในพิธีด้วย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารที่นำมาตั้งในมณฑลพิธี ก่อนจะนำไปไถหว่าน เรียกพระราชพิธีนี้ว่า พระราชพิธีพืชมงคล เมื่อรวมพระราชพิธี 2 พระราชพิธี เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นราชประเพณีสืบมา จัดการพระราชพิธี 2 วัน วันแรกคือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ วันรุ่งขึ้นคือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีสิริมงคล เพื่อบำรุงขวัญเกษตรกร จึงได้กำหนดวันประกอบพระราชพิธีในวันดีที่สุดของแต่ละปี โดยเลือกวันขึ้นแรมฤกษ์ยามอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์ และอยู่ในระหว่างเดือน 6 ทางจันทรคติ พระราชพิธีนี้จึงไม่ได้กำหนดวันในแต่ละปีตามปฏิทินได้แน่นอน ตามปกติแล้ววันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะอยู่ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี การที่กำหนดในเดือน 6 ก็เพราะเป็นเดือนที่เริ่มเข้าฤดูฝนเป็นระยะเวลาเหมาะสมสำหรับเกษตรกรคือ ชาวนาจะได้เตรียมทำนาอันเป็นอาชีพหลักของไทยมาแต่โบราณ เมื่อโหรหลวงคำนวณวันอุดมมงคลฤกษ์แล้ว สำนักพระราชวังจะลงพิมพ์ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันปีใหม่ทุกปี โดยกำหนดว่า วันใดเป็นพระราชพิธีพืชมงคล วันใดเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งได้กำหนดเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นวันหยุดราชการและประกาศให้มีการประดับธงชาติ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้ปฏิบัติเป็นราชประเพณีสืบมาจนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๙ แล้วได้เว้นว่างไป ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๘๓ รัฐบาลกำหนดให้มีการพระราชพิธีเฉพาะแต่พระราชพิธีพืชมงคล ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ให้เรียกว่า รัฐพิธีพืชมงคล

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

พุทธศักราช ๒๕๐๓ เลขาธิการพระราชวังรับบรมราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่าพระราชพิธีพืชมงคลแต่เดิมจัดเป็นการพระราชพิธี ๒ วัน แล้วได้ระงับไปคงไว้แต่รัฐพิธีพืชมงคลรัฐบาลจึงสนองพระราชดำริให้จัดพระราชพิธีพืชมงคลและรัฐพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อรักษาราชประเพณีอันเป็นมิ่งขวัญของการเกษตรสืบไป สำนักพระราชวังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้กำหนดการพระราชพิธีพืชมงคลและรัฐพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๓ เป็นต้นมา ครั้นพุทธศักราช ๒๕๐๖ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเคยจัดพระราชพิธีที่ท้องสนามหลวง ทุ่งพญาไท (บริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) ทุ่งส้มป่อย (บริเวณสนามม้าราชตฤณมัย) และที่อื่น ๆตามแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธี ครั้นเมื่อได้ฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงซึ่งเคยเป็นที่จัดพระราชพิธีในรัชกาลที่ ๑ – ๓

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พระยาแรกนา เริ่มแรกการฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นมาใหม่ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พระยาแรกนา ได้แก่ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคัดเลือกจากข้าราชการสตรีในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้นต่อมามีการยุบกรมการข้าว จึงต้องเปลี่ยนผู้ปฏิบัติหน้าที่พระยาแรกนา จากอธิบดีกรมการข้าวเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ขณะที่เทพีคัดเลือกจากข้าราชการสตรีระดับชำนาญการขึ้นไป ที่ยังมิได้สมรสจากกรมต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการพระราชพิธีพืชมงคล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพระราชพิธี ทรงอธิษฐานขอความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารให้มีแก่ราชอาณาจักร นอกจากนี้มีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับปรุงพระราชพิธีให้เหมาะสมกับยุคสมัย กับได้ทรงปลูกพันธุ์ข้าวในแปลงนาสาธิตบริเวณสวนจิตรลดาซึ่งเป็นพระราชฐานที่ประทับ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงนาสาธิตแล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพันธุ์ข้าวประมาณ 40-50 กิโลกรัม เพื่อนำมาใช้ในการพระราชพิธี เมล็ดพันธุ์ข้าวที่พระราชทานมานี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แบ่งไปหว่านในมณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวงส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจัดบรรจุซองส่งไปยังจังหวัดต่างๆทั่วราชอาณาจักรสำหรับแจกจ่ายแก่เกษตรกร เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นการส่งเสริมการเกษตรตามพระราชประสงค์