โฮ่ง โฮ่ง บรู๋ว…หมาหอน ที่ไม่ใช่เพราะเห็นผี

ก็เพราะคืนนี้ เป็นคืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่เขาเรียกว่ากันว่าเป็น “คืนหมาหอน” น่ะสิ  

แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ  คืนหมาหอน!!

ท่านผู้รู้ อย่าง รศ. ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้ให้ความหมายเอาไว้ ว่า

คืนหมาหอน คือ คืนสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง มีความสำคัญในแง่ที่ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งสูงมากในคืนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตระเวรตามบ้านทุกหลังคาเรือนเพื่อซื้อเสียงครั้งสุดท้ายเป็นการจ่ายเงินรอบสุดท้าย ซึ่งหวังผลได้มาก เพราะหากประเมินแล้วคะแนนยังไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะรีบซื้อเสียงเพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย หรือที่ซื้อเสียงไปก่อนหน้านี้ อาจถูกผู้สมัครรายอื่น “เกทับ” ด้วยการซื้อเสียงด้วยจำนวนเงินมากกว่า ก็สามารถแจกเงินเพิ่มได้ เป็นโอกาสสุดท้ายที่สามารถพลิกสถานการณ์ อาจกล่าวได้ว่า เป็นการวัดดวงหรือทิ้งทวนครั้งสุดท้าย นอกจากนี้ การแจกเงินซื้อเสียงที่จะมีอิทธิพลต่อผู้ที่ไปลงคะแนนนั้น อาจต้องเป็นการซื้อเสียงครั้งสุดท้ายที่ใกล้กับวันเลือกตั้งมากที่สุด เพราะง่ายต่อการจดจำ เนื่องจากการปฏิบัติการดังกล่าว กระทำในเวลากลางคืน ในลักษณะหลบซ่อนและมีพิรุธ หมาเฝ้าบ้านก็เลยหอน จึงเรียกคืนดังกล่าวว่า “คืนหมาหอน”

(ที่มา: http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B8%...)

เมื่อสืบค้นไปยังพบว่า มีบทเพลงเพื่อชีวิตที่สะท้อนสังคม ของ ศิลปินคาราบาว ซึ่งมีชื่อว่า “คืนหมาหอน” อยู่ในอัลบั้ม “เส้นทางสายปลาแดก”   ออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2540 ในรูปแบบซีดีและเทปคาสเซ็ท โดยบริษัท กระบือ แอนด์ โค สะท้อนปัญหาทุจริตซื้อเสียงที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน

โดยเพลง “คืนหมาหอน” มีเนื้อเพลงในท่อนหนึ่งอธิบายไว้ได้อย่างเห็นภาพชัดเจน มีอยู่ว่า

“เห็นแต่คนมักสูงมักใหญ่ ไสหัวคะแนน

 มาเที่ยวแจกเงิน แจกกันเพลิน ในวันสุขดิบ

โค้งสุดท้าย ก็คืนหมาหอน หมามันเห่า

เพราะไม่เข้าใจ มันเห็นคนแปลกหน้า

ด้อม ด้อม มอง มอง แบก เอาเงินเอาทอง

มาแจกพี่น้อง ทุ่มซื้อคะแนน ( ทุ่มซื้อคะแนน )

 เขาหวังจะเป็นผู้แทน เราเป็นผู้ทน ทุกข์ทรมาน

 เลือกกันแบบไทย ไทย ประชาธิปไตย รูเบอะรูบาน” (ที่มา : Carabao Official)

แม้ในความเป็นจริง บรรดานักการเมืองที่ทุจริตคิดคด อาจหาวิธีหลบเลี่ยงการตรวจสอบ การกระทำความผิด ด้วยการจ่ายเงินซื้อเสียงกันไปตั้งแต่ก่อนคืนหมาหอนแล้วก็ตาม แต่หากในช่วงโค้งสุดท้าย หยั่งกระแสแล้วดูทรงว่าอาจไม่รอด หรือสูสี  ต้องการตอกย้ำเพื่อความมั่นใจ ก็อาจจะมีการทุ่มกันในคืนสุดท้าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงยังต้องมีการเฝ้าระวังกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายปัจจัย ที่บรรดานักการเมือง และพรรคการเมืองจะใช้วิธีการเพื่อเอาชนะในการเลือกตั้ง แต่ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ พึงสังวรณ์ไว้ว่า ของฟรีไม่มีในโลก เมื่อซื้อเสียงเข้ามา ก็ต้องถอนทุนออกไป และทุนนั้นก็คือ เงินภาษีของประชาชน ที่นำไปใช้เป็นเงินงบประมาณแผ่นดินนั่นเอง วงจรอุบาทว์ก็วนเวียนอยู่ไม่จบสิ้น

ดังนั้นหากพบเห็นการทุจริตการเลือกตั้งให้แจ้งเบาะแสต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. ซึ่งเขาตั้งรางวัลให้กับผู้แจ้งเบาะที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนไต่สวนคดีเอาไว้สูง ตั้งแต่ 100,000 -1,000,000(ขึ้นอยู่กับข้อมูล) โดยสามารถแจ้งเบาะแสได้ตามช่องทางดังนี้

1.แอปพลิเคชัน "ตาสับปะรด" โดยการดาวน์โหลด ผ่านเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ App Store และ Google Play รองรับโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชัน 8 ขึ้นไป และ iOS เวอร์ชัน 11 ขึ้นไป ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน "ตาสับปะรด" สามารถรายงานสถานการณ์ได้ทั้งข้อความ ภาพ เสียง หรือวีดีโอ

2.ศูนย์รับแจ้งเบาะแสทุจริตการเลือกตั้ง หมายเลขโทรศัพท์ 0 2141 8860, 0 2141 8579 และ 0 2141 8858

3.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร

4. บริการสายด่วน กกต.1444 สำหรับผู้ที่แจ้งเบาะแสทุจริตในการเลือกตั้ง ส.ส.

เพื่อการเลือกตั้งไทยที่ใสสะอาด  !!

 

#เลือกตั้ง66

#ซื้อเสียง

#คืนหมาหอน