โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ขอบคุณ "พลังแห่งความสามัคคี" ของคนไทยร่วมกันนำชาติฝ่าวิกฤตโควิด-19 และกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืน หลังครม. รับทราบผลการประเมินโครงการ/แผนงาน ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน COVID-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ในภาพรวมอยู่ในระดับ "ดีมาก"

วันที่่ 11 พฤษภาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประเมินโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 1 จำนวน  10 โครงการ  (จากกำหนดเป้าหมายประเมินผลทั้งสิ้น 250 โครงการ) วงเงินอนุมัติ 184,410.22 ล้านบาท  เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 42,322.44 ล้านบาท  รายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมที่รัฐคาดว่าจะได้รับกลับคืนสูงสุดภายใน 3 ปี จำนวน 8,168.23 ล้านบาท  ประกอบด้วย 

1.แก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  จำนวน 1 โครงการตัวอย่างจาก 45 โครงการ  (วงเงิน 8,616.08 ล้านบาท  ผลการเบิกจ่าย 8,616.08 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ  100)  จัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดสและจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมายร้อยละ 100   สามารถช่วยป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันอาการป่วยรุนแรง  กระตุ้นการตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของวัคซีนสนับสนุนอุตสาหกรรมวัคซีนให้มีศักยภาพมากขึ้นในอนาคต

2.ช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้กับภาคประชาชนทุกสาขาอาชีพ  จำนวน 6 โครงการตัวอย่างจาก 31 โครงการ (วงเงินอนุมัติ 115, 494.95 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย 114,576. 03 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.20) ได้แก่ โครงการเยียวยาผู้ประกันตน ม.39 (1.37 ล้านราย) ผู้ประกันตน ม.40 (7.21 ล้านราย)  และนายจ้าง (0.16 ล้านราย) ผู้ประกันตน ม. 33 (3.36 ล้านราย) การเพิ่มกำลังซื้อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3  (13.36 ล้านบาท) และ 4 ( 13.20 ล้านราย) รวมทั้ง การลดค่าไฟฟ้า (บ้านอยู่อาศัย/กิจการขนาดเล็ก (21.3 ล้านราย) มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 42,292.35 ล้านบาท รายได้ที่คาดว่าภาครัฐจะได้กลับคืนในระยะเวลาสามปีสูงสุด 8,162.42 ล้านบาท ซึ่งสามารถลดความเครียด และชะลอการเกิดหนี้เสียและไม่ต้องขายทรัพย์สินเพื่อนำมาใช้จ่าย 

3.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 3 โครงการตัวอย่าง จาก 2,432 โครงการ (วงเงิน 60,299.19 ล้านบาท ผลเบิกจ่าย 60, 299.19 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ  100) ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ผู้ได้รับประโยชน์ ได้แก่ ประชาชนทั่วไป (27.98 ล้านราย) ผู้ประกอบการ (1.3 ล้านราย) นายจ้าง SME รับเป็นเงินอุดหนุน (0.24 ล้านราย) รักษาระดับการจ้างงาน (3.26 ล้านราย) และการจ้างงานใหม่ (0.18 ล้านราย) เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 30.09 ล้านบาท รายได้ที่คาดว่าภาครัฐจะได้กลับคืนในระยะเวลาสามปีสูงสุด 5.81 ล้านบาท ลดการเลิกจ้างงาน เพิ่มความตระหนักรู้ด้านดิจิทัล  ส่งเสริมสังคมไร้เงินสดของไทย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการประเมินภาพรวมของแผนงาน/โครงการที่มีการดำเนินการทั้ง 10 โครงการ ได้ระดับ "ดีมาก"  ภายใต้ตัวชี้วัดทั้ง 5 มิติ ได้แก่ ความสอดคล้อง-เชื่อมโยง  ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล  ผลกระทบและความยั่งยืน  ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่นชม และขอบคุณ "พลังแห่งความสามัคคี" ของคนไทยทุกคน ที่ได้ร่วมกันช่วยประเทศฝ่าวิกฤตโควิด - 19 และสามารถกลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืน