กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการเชิงรุก รับบทประธานเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน (ANIEE) เร่งผลักดันสมาชิกอาเซียนยกระดับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตอบโจทย์ปกป้องนักลงทุนไทยพร้อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน 

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ ประเทศไทยและประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยจะต้องมีระบบการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นมาตรฐาน และสามารถคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการไทยได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้ดำเนินการเชิงรุกโดยการเสนอตัวเข้ารับตำแหน่งประธานเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน (ANIEE) เพื่อเป็นเวทีในการผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ให้ความสำคัญและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในรูปแบบปกติและออนไลน์ เพื่อให้สินค้าไทยได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสมทันต่อสถานการณ์ พร้อมสร้างโอกาสและความเป็นธรรมทางการค้าที่สอดคล้องกับมาตรฐานและเทคโนโลยีในปัจจุบัน”

โดยที่ผ่านมา ไทยถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน การที่ไทยได้รับบทบาทเป็นประธาน ANIEE จึงเป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นตั้งใจในการผลักดันเรื่องดังกล่าวให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในระดับระหว่างประเทศ ทั้งการถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้ และแนวทางการดำเนินการต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของไทย เพื่อให้ได้รับการปรับใช้ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างการยอมรับและบทบาทนำของไทยในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ นักลงทุน ตลอดจนประชาชนทั่วไปในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

“ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ไทยเป็นประธาน ANIEE กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะผลักดันความร่วมมือการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกอาเซียนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น การสร้างกลไกการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ในอาเซียนโดยจัดทำบันทึกความร่วมมือกับแพลตฟอร์ม e-Commerce ของอาเซียน การจัดทำคู่มือการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน และการเพิ่มขีดความสามารถการดำเนินงานให้กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียนในภาพรวม ทั้งยังจะเป็นหลักประกันว่าสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังอาเซียนจะได้รับการคุ้มครองที่ดี และมีศักยภาพในการแข่งขันอย่างยั่งยืนโดยไม่ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย”