ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดีชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร หรือที่หลายคนเรียกขานพระนามของพระองค์ว่า พระเจ้าชาลส์ที่ 3 บ้าง หรือกษัตริย์ชาลส์ที่ 3 บ้าง ซึ่งงานพระราชพิธีก็มีขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ

ท่ามกลางความยินดีปรีดาจากพสกนิกรของชาวเมืองผู้ดี อันเป็นนิกเนมของอังกฤษ ประเทศพี่เบิ้มใหญ่แห่งสหราชอาณาจักร อันรวมแดนดินของอีก 3 ประเทศเข้าไปด้วย ได้แก่ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ

โดยในพระราชพิธีดังกล่าว ทางการอังกฤษ ก็ได้เชิญองค์พระประมุข และผู้นำประเทศ รวมถึงตัวแทน ตลอดจนแขกเหรื่อต่างๆ มาร่วมงานจำนวนรวมแล้วมากกว่า 2,200 พระองค์/คน ด้วยกัน จนนับเป็นงานพระราชพิธีที่มีผู้ร่วมงานอย่างคับคั่งพิธีหนึ่ง

ทว่า อย่างไรก็ดี ก็ปรากฏว่าผู้นำประเทศรายหนึ่ง ไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมงาน โดยได้แต่ส่งตัวแทนอันเป็นภริยาคู่ใจของเขามาร่วมงานแทน

นั่นคือ “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา” ผู้นำประเทศที่กล่าวได้ว่า ได้รับการจับตาจากชาวโลกมากที่สุดประเทศหนึ่ง ไม่ว่าจะทำการใด หรือขยับเคลื่อนไหวใดๆ ในฐานะที่เป็นประเทศมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก ณ ชั่วโมงนี้ พ.ศ.นี้

ทั้งนี้ มีรายงานจากทาง “ทำเนียบขาว” อันเป็นทำเนียบประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีไบเดน ได้รับคำเชิญให้ไปร่วมพระราชพิธีฯ ก่อนหน้านี้ด้วยเหมือนกัน แต่ทางประธานาธิบดีไบเดน ได้สนทนาผ่านทางโทรศัพท์กับสมเด็จพระเจ้าชาลส์ ที่ 3 แห่งอังกฤษ โดยผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า จะมอบหมายให้นางจิล ไบเดน ผู้เป็นภริยา และอยู่ในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ นำคณะนักการทูตของสหรัฐฯ เดินทางไปร่วมงานแทน

อย่างไรก็ดี ทางทำเนียบขาว ไม่ได้เปิดเผยถึงสาเหตุว่า เพราะเหตุใดประธานาธิบดีไบเดน จึงเว้นที่จะไม่ไปร่วมงานพระราชพิธีฯ อันสำคัญและมีมาอย่างยาวนานนับพันปีของอังกฤษในครั้งนี้ โดยได้แต่เพียงระบุว่า ประธานาธิบดีไบเดน ได้กราบทูลตอบสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ว่า จะเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ ที่อังกฤษในอนาคต

จากการที่ประธานาธิบดีไบเดน เว้นที่จะเดินทางไปร่วมงานพระราชพิธีดังกล่าว ก็ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงตำหนิเขาอยู่มิใช่น้อย ทั้งในสหรัฐฯ และที่อังกฤษ

โดยในสหรัฐฯ นั้น ก็ถูกฉวยโอกาสหยิบยกจากฟากตรงข้ามทางการเมืองของเขา นั่นคือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คู่ปรับเก่าจากพรรครีพับลิกัน กล่าวตำหนิวิจารณ์ว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมของประธานาธิบดีไบเดน และถือเป็นการกระทำที่ไม่ให้ความเคารพต่อองค์พระประมุขของอังกฤษ

ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากอังกฤษ ปรากฏว่า ทั้งวงการเมือง และสื่อมวลชน ในเมืองผู้ดี ต่างออกมาประสานเสียงตำหนิประธานาธิบดีไบเดนกันอย่างขรม จากการที่ในฐานะของประเทศเป็นคู่พันธมิตร ที่อาจกล่าวได้ว่า ใกล้ชิดกันอย่างที่สุดยิ่งกว่าชาติไหนๆ เลยก็ว่าได้

โดยในวงการเมืองของอังกฤษ ปรากฏว่า บรรดาพลพรรคของพรรคอนุรักษ์นิยม หรือคอนเซอร์เวทีฟ อย่างส.ส. บ๊อบ ซีลี กล่าวว่า ประธานาธิบดีไบเดน ทำตัวเมินเฉยที่จะเข้าร่วมงานที่กล่าวได้ว่าเป็นงานสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของเขาเลยก็ว่าได้

เช่นเดียวกับสื่อมวลชนของชาวเมืองผู้ดีอย่าง เดลีเมล์ หนังสือพิมพ์ชื่อดังในอังกฤษ ถึงขั้นพาดพิงไปถึงบรรพบุรุษของประธานาธิบดีไบเดนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวไอริช ซึ่งเป็นคู่ปรปักษ์กับอังกฤษมาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม บรรดานักประวัติศาสตร์ อธิบายว่า เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจไม่เข้าร่วมงานพระราชพิธีฯ ของประธานาธิบดีไบเดน หาได้เป็นเช่นวิพากษ์วิจารณ์กันไม่

ยกตัวอย่างเช่น ศ.ลอรา เบียร์ส นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และยังได้รับการยกย่องให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอังกฤษยุคใหม่ แห่งมหาวิทยาลัยอเมริกัน ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ ให้ทรรศนะว่า หากจะกล่าวถึงเหตุผลทางการเมืองแล้ว ต้องถือว่าน้อยมากๆ แต่สาเหตุที่แท้จริงแล้ว ก็ต้องบอกว่า มาจากธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานนับศตวรรรษแล้วที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะไม่เดินทางไปเข้าร่วมงานพระราชพิธีฯ ข้างต้นนั้น ไม่ใช่การเพิกเฉย และไม่ใช่แนวคิดต่อต้านอังกฤษของประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งหากใครที่คิดเช่นนั้นก็นับว่า เป็นเรื่องไร้สาระมากๆ

โดยประวัติศาสตร์ที่ว่า ก็ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาก่อตั้งประเทศที่ประกาศเอกราชตัวมาจากอังกฤษ สงครามความขัดแย้งกับอังกฤษ เมื่อปี 1812 (พ.ศ. 2355) ความขัดแย้งหลังการปฏิวัติอเมริกาครั้งใหญ่ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้น

แม้กระทั่งในยุคที่อังกฤษมีสมเด็จพระราชินีอันโด่งดัง หลังเกิดกระแสนิยมในสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย หรือวิกตอเรียฟีเวอร์ แต่ก็ไม่สามารถทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในยุคนั้นอย่าง “ประธานาธิบดีมาร์ติน แวน บิวเรน” ตัดสินใจเดินทางมาเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียได้

นอกจากนี้ ในสมัยสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ที่ 2 ขึ้นครองราชย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐฯ กับอังกฤษ เป็นพันธมิตรแน่นแฟ้นมากที่สุดยุคหนึ่ง จากการที่ร่วมทำศึกในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงธรรมเนียม เพื่อให้เกิดการตัดสินใจของประธานาธิบดีดไวต์ ดี.ไอเซนฮาวร์ ของสหรัฐฯ ในยุคนั้น มาเข้าร่วมงานพระราชพิธีอันสำคัญยิ่งนี้ได้เช่นกัน