วันที่ 5 พ.ค.2566 เมื่อเวลา 10.30นที่ทัณฑสถานหญิงกลาง น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์ ทนายความของนางสรารัตน์ หรือแอม ผู้ต้องหาวางสารพิษไซยาไนด์ฆ่าชิงทรัพย์เหยื่อนับสิบราย เดินทางเข้าพบนางสรารัตน์ หลังได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนว่าเจ้าตัวต้องการให้เข้าพบ 

น.ส.ธันย์นิชา กล่าวว่า นับแต่ครั้งแรกที่พบกันนั้นแอมยังยันว่าไม่ทำผิด ดังนั้นโอกาสที่จะรับสารภาพจึงเป็นไปได้ยากมาก ต้องตรวจสอบว่าฝ่ายโจทก์มีพยานใดบ้าง ซึ่งตนยังไม่เห็นหลักฐานใดที่ชัดเจนจากฝ่ายโจทก์ เว้นแต่ข้อมูลที่นำเสนอผ่านสื่อ โดยเฉพาะคดีของ น.ส.ก้อย ที่ จ.ราชบุรี ที่แอมยืนยันไม่ได้กระทำผิด และยังมีหลักฐานรวมถึงการทดสอบตัวลูกความก่อนที่ตนจะรับทำคดี ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่นำเสนอผ่านสื่อนั้นเป็นเพียงส่วนเดียว แต่มีความเป็นไปได้ว่าแอมอาจจะกระทำผิดในคดีอื่น ซึ่งตนยังไม่มั่นใจ ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง แต่ยืนยันจะรับว่าความให้แอมทุกคดี 

น.ส.ธันย์นิชา กล่าวต่อว่า แม้ข้อหาฆ่าผู้อื่นตามที่ถูกแจ้งจะมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต ตนก็จะทำคดีอย่างเข้มแข็งพอสมควร แต่อัตราโทษดังกล่าวมีตั้งแต่การจำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน และประหารชีวิต ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติทางกฎหมาย ส่วนกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.บอกว่าแอมมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมากขึ้น จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปลี่ยนคำให้การนั้น เมื่อตนได้เข้าพบกับแอมแล้วจะแจ้งสิทธิ์ให้เจ้าตัวทราบก่อน หากเจ้าตัวต้องการจะรับสารภาพ ก็จะแนะนำให้ไปรับสารภาพต่อหน้าศาล

อย่างไรก็ดี ตามมารยาททนายความนั้นไม่ว่าทนายจะอยู่ฝ่ายใด ก็ต้องผดุงความยุติธรรม สิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับลูกความก็ต้องบอก และปกป้องผลประโยชน์แม้เขาจะเป็นจำเลย ตราบเท่าที่ศาลยังไม่สั่ง ก็ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ 

น.ส.ธันย์นิชา กล่าวด้วยว่า สำหรับหลักฐานที่เห็นแย้งกับหลักฐานที่ตำรวจรวบรวมไว้นั้นยังเปิดเผยไม่ได้ แต่มีทั้งวัตถุพยานและพยานบุคคล ส่วนกรณีที่แอมเรียกตนเข้าพบนั้น เป็นเพราะตนเป็นคนที่เขาไว้ใจที่สุด แม้จะเพิ่งรู้จักกันปีที่แล้วที่ตนทำคดีให้