กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้างานคลินิกพืชทั่วประเทศ ช่วยเกษตรกรป้องกันและกำจัดศัตรูพืช โดยเกษตรกรที่เข้ารับบริการจะได้รับชีวภัณฑ์ฟรีและไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมผลักดันให้เกษตรกรเป็นหมอพืชชุมชน เพื่อให้บริการครอบคลุมในระดับหมู่บ้าน 

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันการทำเกษตรมักพบศัตรูพืชเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรจำนวนมาก ทำให้ผลผลิตเสียหาย พืชอ่อนแอ ผลผลิตไม่ได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ผลิต ด้วยเหตุนี้การวินิจฉัยหาสาเหตุจากอาการผิดปกติของพืชที่ถูกทำลายจากศัตรูพืชจึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากจะส่งผลต่อการเลือกใช้วิธีจัดการที่เหมาะสม ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ผลักดันให้มีบริการตรวจวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืช พร้อมให้คำแนะนำการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้องแก่เกษตรกรในแต่ละพื้นที่ผ่านรูปแบบการให้บริการ คลินิกพืช (Plant Clinic) ขึ้น 


    
โดยคลินิกพืช เป็นจุดให้บริการตรวจวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืชในระดับพื้นที่ รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการศัตรูพืชที่เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยยึดหลักการผสมผสาน ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย และเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีความปลอดภัยต่อตัวเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค ซึ่งคลินิกพืชจะมีหมอพืชที่ได้รับการอบรม มีความเชี่ยวชาญพร้อมให้บริการวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืชเบื้องต้น และให้คำแนะนำกับเกษตรกรในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเปิดให้บริการคลินิกพืชในทุกพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 968 คลินิก ประกอบด้วย คลินิกพืชระดับภูมิภาค คลินิกพืชระดับจังหวัด และคลินิกพืชระดับอำเภอ 


สำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจขอเข้ารับบริการ ควรเตรียมตัวอย่างพืชที่แสดงอาการผิดปกติ หรือแมลงที่พบในแปลงปลูก หรือภาพถ่ายพืชที่แสดงอาการผิดปกติที่ชัดเจน หากไม่แน่ใจสามารถติดต่อสอบถามวิธีการเก็บตัวอย่างพืชที่ถูกต้องได้จากเจ้าหน้าที่ประจำคลินิกพืชในพื้นที่ พร้อมเตรียมข้อมูลประวัติการปลูกและการดูแลรักษาพืช เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ประกอบการวินิจฉัย บางกรณีอาจจำเป็นต้องมีการลงสำรวจในแปลงของเกษตรกรเพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง โดยเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการขอรับบริการ 


    
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากคลินิกพืช คือ เกษตรกรสามารถแก้ไขอาการผิดปกติของพืชได้ถูกต้องตรงตามสาเหตุ สามารถลด ละ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกินความจำเป็น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ โดยผลประเมินการให้บริการที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจในการเข้ารับบริการเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องความสะดวก รวดเร็ว และสถานที่เหมาะสม รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการมีความสุภาพ เอาใจใส่ กระตือรือร้น และสามารถวินิจฉัยอาการผิดปกติและให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน 


    
นอกจากนี้ การขับเคลื่อนคลินิกพืช ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ ให้มีความรู้และทักษะเกี่ยวกับการวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืช เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหมอพืชมากยิ่งขึ้น อีกทั้งกรมส่งเสริมการเกษตรยังมีแผนในการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นหมอพืชชุมชน โดยการถ่ายทอดความรู้ด้านการวินิจฉัยและจัดการศัตรูพืชเบื้องต้น เพื่อให้เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ พร้อมประสานงาน ส่งต่อข้อมูล ถ่ายภาพ เก็บตัวอย่างพืชที่พบอาการผิดปกติ เป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินงานคลินิกพืชเข้าสู่ระดับหมู่บ้าน ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น