บีโอไอยกทีมบุกภาคเหนือ จับมือพันธมิตรในพื้นที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ จัดงาน “NEW Economy, NEW Opportunities” เพื่อชี้โอกาสการลงทุนใหม่ ๆ พร้อมมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยมีนักธุรกิจทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมงานกว่า 250 คน พร้อมทั้งได้ร่วมหารือผลักดันระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) 4 จังหวัด ให้เป็นหัวหอกสร้างการเติบโตในภาคเหนือ เผย 3 เดือนที่ผ่านมา มีการยื่นขอลงทุนในภาคเหนือกว่า 8,000 ล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 บีโอไอร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ภาคเหนือ จัดงาน “NEW Economy, NEW Opportunities” โดยเป็นการจัดงานต่อเนื่องจากภาคตะวันออก เพื่อประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ เนื่องจากภาคเหนือเป็นพื้นที่สำคัญที่มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลายสาขา โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 250 คน พร้อมทั้งได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการลงทุน เช่น สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

         

“ภาคเหนือมีความพิเศษที่แตกต่างจากภาคอื่น ๆ ตรงที่มีส่วนผสมระหว่าง High Tech และ High Touch อย่างลงตัว ในด้าน High Tech เชียงใหม่เป็นแหล่งรวมสตาร์ตอัปและกลุ่ม Digital Nomad อีกทั้งมีย่านนวัตกรรมการแพทย์และโรงเรียนแพทย์ที่มีคุณภาพ ลำพูนเป็นหนึ่งในคลัสเตอร์หลักของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และมีไบโอคอมเพล็กซ์ ต้นแบบเศรษฐกิจชีวภาพ ตั้งอยู่ที่นครสวรรค์และเชื่อมโยงกับจังหวัดรอบ ๆ ขณะที่ในด้าน High Touch ภาคเหนือมีความโดดเด่นทั้งในแง่ศิลปวัฒนธรรม งานหัตถกรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งเกษตรและอาหารที่อุดมสมบูรณ์ โจทย์สำคัญอยู่ที่ว่า
เราต้องดึงจุดแข็งเหล่านี้ มาต่อยอดเพื่อสร้างฐานธุรกิจใหม่ ๆ และเพิ่มมูลค่าให้มากที่สุด เพื่อทำให้ภาคเหนือเป็นดาวเด่นในด้านเศรษฐกิจและการลงทุนในทศวรรษหน้า” นายนฤตม์กล่าว

โดบในงานสัมมนา บีโอไอได้นำเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ที่จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนในภาคเหนือ เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart & Sustainable Industry มาตรการส่งเสริม SMEs มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม รวมทั้งมาตรการวีซ่า LTR ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการผลักดัน

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางการลงทุนและมาตรการสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือ” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งในการเสวนาได้กล่าวถึงศักยภาพด้านการลงทุนในภาคเหนือ เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป (Northern Food Valley), ธุรกิจ BCG, อุตสาหกรรมสร้างสรรค์, การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ, การสร้างเมืองนวัตกรรม (Chiangmai City of Innovation), การสนับสนุน Digital Nomad รวมทั้งการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ในภาคเหนือ ผ่านการให้สินเชื่อและสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ขณะเดียวกัน บีโอไอได้หารือกับหน่วยงานพันธมิตรในการขับเคลื่อนนโยบาย “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor: NEC” ซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัดคือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง โดยพื้นที่ NEC เป็นหนึ่งในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง ใน 4 ภาค ที่กำหนดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย
การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะนี้บีโอไอได้ออกมาตรการด้านสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 แห่ง เรียบร้อยแล้ว  

“สิทธิประโยชน์ที่บีโอไอให้กับการลงทุนในพื้นที่ NEC จะอยู่ในระดับเดียวกับ EEC ซึ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีเงื่อนไขด้านการพัฒนาบุคลากร หรือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม บีโอไอมีเป้าประสงค์ที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ที่มีความเชื่อมโยงตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำไปยังผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ โดยใช้ศักยภาพของแต่ละจังหวัดมาเสริมซึ่งกันและกัน และอาจดึงผู้เชี่ยวชาญหรือเทคโนโลยีจากภายนอกเข้ามาช่วย โดยต้องทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในท้องถิ่นได้รับประโยชน์ด้วย ซึ่งพื้นที่ NEC 4 จังหวัด ถือเป็นหัวหอกสำคัญที่จะดึงภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด ให้เติบโตไปด้วยกันได้” นายนฤตม์ กล่าว 

สำหรับยอดการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือ ช่วงไตรมาสแรกปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 20 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 8,116 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรและแปรรูปอาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ทั้งนี้ บีโอไอมีแผนจัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ไปยังทุกภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้แก่นักลงทุนทั่วประเทศ โดยครั้งต่อไป จะมีการจัดงานสัมมนาใหญ่สำหรับนักลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดนครราชสีมา ในเดือนมิถุนายนนี้