เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566 ในพิธีเปิดกิจกรรม “ปฏิบัติการสำรวจธรรมชาติในเมือง City Nature Challenge ” ณ เวทีกลาง ลานตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ได้มีการประกาศมอบรางวัล Mahidol Science Environment & Sustainability Award 2023 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ บุคคล และองค์กร รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่สร้างประโยชน์แก่สังคมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จนเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งในปี 2566 รางวัล Mahidol Science Environment & Sustainability Award 2023  ประเภทบุคคล ได้แก่รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ หน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ (Animal Genomics and Bioresource Research Unit: AGB Research Unit) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ประเภทองค์กร ด้านกิจกรรม ได้แก่ Carbon Markets Club โดย บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ กล่าวว่ารู้สึกเป็นเกียรติ และภาคภูมิใจอย่างยิ่ง สำหรับการนำหลักวิชาการวิจัย การสื่อสารงานวิทยาศาสตร์ และนำไปใช้ประโยชน์สู่สังคมทางด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน และได้รับรางวัล Mahidol Science Environment & Sustainability Award 2023 ประเภทบุคคลในครั้งนี้ ขอขอบพระคุณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประชาชน คือ เจ้าของประเทศ เกษตรศาสตร์ คือ ภาษีของประชาชน คณะผู้บริหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทุกท่าน และ ผู้บริหาร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ระดับคณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รศ.ดร.อภิสิฎฐ์ ศงสะเสน ที่มอบโอกาส พลังกาย พลังใจ และสนับสนุนทุกอย่างเพื่อผลักดันงานวิจัยมาในด้านนี้ และขอบพระคุณคณะวิทยาศาสตร์ และคณะวนศาสตร์ ม. เกษตรศาสตร์ ที่ร่วมสนับสนุนกิจการงานวิจัย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) สวทช. เครือเบทาโกร ที่สนับสนุนกำลัง พลังการทำงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นนักวิจัยที่มีความคิดริเริ่มและอุทิศตนเพื่องานวิจัย ได้สร้างองค์ความรู้ทางการวิจัยที่สำคัญ มีผลงานการวิจัยวิจัยที่โดดเด่นทางด้านทรัพยากรชีวภาพสัตว์และจีโนมิกส์ของสัตว์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านความหลากหลายชีวภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ มีผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม เป็นผลงานวิจัยที่ทำสะสมกันมาไม่น้อยกว่า 10 ปี และเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัยจนเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการ

โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ มีแรงบันดาลใจจากการทำงานร่วมในกลุ่มเครือข่ายงานวิจัยสัตว์ป่าทั้งจากนักวิจัยภายในมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ และนักวิจัยหน่วยงานภายนอก อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund: WWF) และ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society: WCS) ประเทศไทย โดยติดตามและร่วมประสานงานกลุ่มสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ในประเทศไทย ทำให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงของการเตรียมความพร้อมของสัตว์ป่าเพื่อเพิ่มจำนวนประชากร การเพาะขยายพันธุ์ที่ผ่านมา เป็นเพียงการเพิ่มประชากรของสัตว์ป่าให้มีจำนวนมากขึ้น แต่ขาดการวางแผนการจับคู่ผสมพันธุ์อย่างมีระบบ ทำให้สัตว์ป่าที่เกิดขึ้น มีสุขภาพไม่ดี ไม่สมบูรณ์ เจ็บป่วยง่าย สัตว์ป่าบางตัวมีลักษณะพิการ อันเป็นผลมาจากสภาพเลือดชิด

ด้วยเหตุดังกล่าวหากเตรียมพร้อมประชากรสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ให้มีคุณภาพทางพันธุกรรม พร้อมสำหรับการอนุรักษ์และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมและยกระดับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย จะเป็นประโยชน์ต่องานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทยอย่างยั่งยืน จากประสบการณ์การทำงานพันธุกรรมของสัตว์ในระดับจีโนมิกส์เพื่อศึกษาโครงสร้างจีโนมที่มีมามากกว่า 10 ปี จึงสามารถนำมาประยุกต์ต่อยอดในงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์ของสัตว์ป่าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรม และประเมินโครงสร้างประชากรของสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในธรรมชาติ และในสถานีแหล่งเพาะขยายพันธุ์ เช่น สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ฯ หรือฟาร์มต่าง ๆ ทำให้สามารถวางแผนการจับคู่ผสมพันธุ์สัตว์อย่างมีแบบแผน และกู้วิกฤตสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ให้กลับมามีชีวิต และดำรงในธรรมชาติได้ เช่น โครงการการตรวจสอบความหลากหลายทางพันธุกรรมของกวางผา ไก่ฟ้าหางลายขวาง นกกระสาคอขาว ช้าง กระจงควาย ซึ่งช่วยให้การปล่อยจระเข้คืนสู่ธรรมชาติดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นหลักฐานสำคัญต่อการปลดล็อกบัญชีสัตว์ต้องห้ามทางการค้า หรือ CITES โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการการตรวจสอบจระเข้สยามและจระเข้น้ำเค็มซึ่งจะสนับสนุนให้กิจกรรมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ของจระเข้ เช่น หนังสำหรับกระเป๋า เครื่องใน เนื้อ สามารถส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้โดยลดปัญหาการกีดกันทางการค้า

ด้วยผลงานเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันงานวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์ของสัตว์ป่าในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากลจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากองค์กรการวิจัยต่าง ๆ โดยมีเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาศักยภาพให้แก่นักวิจัยและนักศึกษา ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมการเกษตรสามารถนำงานวิจัยต่อยอดได้ นอกจากนี้ด้วยองค์ความรู้ด้านพันธุกรรมของสัตว์ป่า ยังนำไปสู่ความร่วมมือของหน่วยงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น การพิสูจน์จระเข้สยามและจระเข้น้ำเค็มในธรรมชาติร่วมกับกรมประมง การตรวจสอบคดีเก้งเผือกร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การระบุอัตลักษณ์ของช้างเพื่อช่วยรับรองช้างเกิดใหม่ร่วมกับปางช้างแม่แตงและกรมการปกครอง และการประเมินจำนวนประชากรของช้างในผืนป่ากุยบุรีโดยร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature: WWF)

ผลงานวิจัยเหล่านี้ได้สร้างคุณูปการและเกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ เศรษฐกิจ ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนให้บริการทางวิชาการแก่นักวิจัยทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในการให้ความรู้ และฝึกอบรม รวมทั้งการตรวจสอบและประเมินโครงการวิจัยในคนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการวิจัยของงานวิจัยทางจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ ซึ่งเชื่อมโยงต่อการส่งเสริมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยผลงานเหล่านี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้อนุมัติให้จัดตั้งหน่วยวิจัยด้านจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2565 เพื่อประสานความร่วมมือและนำการวิจัยและบริการวิชาการด้านจีโนมิกส์ของสัตว์ การปรับปรุงพันธุ์ การบริหารจัดการสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์เศรษฐกิจ สัตว์ป่า ตลอดจนการพัฒนาโครงการจีโนมของสัตว์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ได้แก่ ปลากัด ช้าง จระเข้ งูเห่า ปลาดุก เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้อยู่ในระดับสูง

https://science.mahidol.ac.th/th/SciMU-Envir.php

https://youtu.be/oZOyyFnOL6EhttpsZOyyFnOL6E