กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมสนองพระราชดำริ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานตามแผนแม่บทระยะ 5 ปีที่เจ็ด (ตุลาคม 2564 -กันยายน 2569) โดยมีทิศทางการดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริ ตามกรอบแผนแม่บท ที่วางไว้ในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและทรัพยากรของประเทศไทยให้ยั่งยืน เพื่อให้เกิดประโยชน์แท้จริง ต่อประเทศไทย และประชาชนชาวไทย ในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ สร้างความพร้อมของมาตรการเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน การเข้าถึงและแบ่งปัน ผลประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช โดยในการดำเนินการของกรมพัฒนาที่ดินได้วางกรอบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินโครงการปกปักทรัพยากร กิจกรรมการปกปักปลูกรักษา ทรัพยากรในพื้นที่ป่าธรรมชาติ/ป่าดั้งเดิม ในพื้นที่ของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต สถานีพัฒนาที่ดิน และศูนย์ศึกษา การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งสิ้นจำนวน 54 แห่ง

โดยมี ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านปฏิบัติการ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “ศึกษาสถานภาพของดินและอนุรักษ์ทรัพยากรดิน ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566” โดยมีผู้รับผิดชอบโครงการปกปักทรัพยากร ป่าธรรมชาติ ป่าดั้งเดิม พื้นที่ของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต สถานีพัฒนาที่ดิน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน และศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมประชุม

ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นักวิชาการจากกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน และสำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ 

ทางด้าน ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นโครงการที่กรมพัฒนาที่ดินให้ความสำคัญ และร่วมสนองพระราชดำริตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำพื้นที่เรียนรู้ทรัพยากรในด้านปกปักทรัพยากร สำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร ปลูกรักษาทรัพยากร ภายในพื้นที่ของสำนักงานเขตพัฒนาที่ดิน สถานีพัฒนาที่ดิน และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ทั่วประเทศ มีการประสานงานเพื่อเชื่อมโยงศูนย์ข้อมูลทรัพยากรดินร่วมกับโครงการ อพ.สธ. การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร ในรูปแบบการเผยแพร่ข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ดิน 15 แห่ง กิจกรรมสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนจำนวน 770 แห่ง

รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในหลายกิจกรรม เพื่อให้เป็นต้นแบบ (Benchmark) ด้านการจัดการดิน ด้านการพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพและพันธุ์พืชให้กับพื้นที่ในท้องถิ่น และใช้ประโยชน์จากผลการวิเคราะห์สมบัติดินทางกายภาพ เคมี และความหลากหลายทางชีวภาพของดิน ในการพัฒนาที่ดินด้านการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้รับผิดชอบดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ของแต่ละหน่วยงาน มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการเก็บตัวอย่างและวิธีวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์หน้าดิน และการเก็บตัวอย่างและวิธีวิเคราะห์ดินทางกายภาพและทางเคมี สามารถนำความรู้ไปใช้ ในการดำเนินงานโครงการศึกษาสถานภาพของดินในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการศึกษาสถานภาพของดินและอนุรักษ์ทรัพยากรดินในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จะเป็นข้อมูลที่สำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้สมดุลของระบบนิเวศ และความอุดมสมบูรณ์ ของดินในพื้นที่ ความหลากหลายของจุลินทรีย์ดินในด้านชนิดและปริมาณ และสามารถนำไปสู่การต่อยอด ในด้านการพัฒนาที่ดิน เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบของการจัดการดิน ส่งเสริมและอนุรักษ์ความหลากหลาย ทางชีวภาพของดินในพื้นที่โครงการปกปักทรัพยากร เป็นข้อมูลไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากร อย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป