นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม 2566 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรที่ขยายตัวได้ดี อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐยังคงหดตัว แต่ในอัตราที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 20.1 การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนมีนาคม 2566 ลดลงจากเล็กน้อยช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -0.9 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.1 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนมีนาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.8 จากระดับ 52.6 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และสูงสุดในรอบ 37 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนมีนาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -0.2 และ -2.5 ตามลำดับ

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมีนาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -2.2 และ -12.6 ตามลำดับ สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนมีนาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -0.3 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.7 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 29.0 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -3.5  

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวแต่ในอัตราที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 27,654.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -4.2 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.01 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้หลายรายการ อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง น้ำตาลทราย และข้าว โดยขยายตัวร้อยละ 94.5 73.9 และ 7.2 ตามลำดับ รวมทั้งสินค้าเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 27.4 และ 5.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ลดลง เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอลง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ตลาดที่ยังคงขยายตัว อาทิ ตลาดญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่ขยายตัวร้อยละ 10.2 5.2 4.7 และ 4.0 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ขยายตัวถึงร้อยละ 228.0  
 
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนมีนาคม 2566 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 9.9 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.2 จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ยางพารา หมวดไม้ผล และหมวดปศุสัตว์ เป็นต้น สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 97.8 ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี จากระดับ 96.2 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกองค์ประกอบของดัชนีฯ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการขยายตัวต่อเนื่องของการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันจากอุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว สำหรับภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนมีนาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.22 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 953.0 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 22.4 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน รัสเซีย อินเดียและเกาหลีใต้ ตามลำดับ 

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.83 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ร้อยละ 61.1 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.69 ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 224.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ