รายงานภาพรวมอุตสาหกรรม LNG ในปี 2023 ของบริษัท เชลล์ จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า ความต้องการ LNG ที่เพิ่มขึ้นในยุโรป จะส่งผลให้ต้องแข่งขันกับทางเอเชียมากขึ้น ในช่วงที่อุปทานใหม่ ๆ ยังคงมีจำกัดในอีกสองปีข้างหน้า และอาจกลายเป็นตัวแปรหลักในตลาดการค้า LNG ในระยะยาว
ปัจจุบันความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจและทางการเมืองระดับภูมิภาคที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก รวมถึงความมั่นคงด้านพลังงานซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความต้องการ LNG จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญ
ในอุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับระบบพลังงานของประเทศ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ในฐานะหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมพลังงานระดับโลก ได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลแนวโน้มมุมมองใน Shell’s LNG Outlook 2023 โดยนายเมห์ดี เชนูฟี Head of LNG Origination & Market Development ในงานสัมมนารายงานภาพรวมอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งจัดโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุม PTT Auditorium ชั้น 2 อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่
ในปี 2022 หลายประเทศในยุโรปรวมถึงสหราชอาณาจักร นำเข้า LNG ถึง 121 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 60% เมื่อเทียบกับปี 2021 เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์ก๊าซนำเข้าทางท่อจากรัสเซีย ที่มีปริมาณลดลงอย่างมากหลังจากการรุกเข้าไปในยูเครนของรัสเซีย นอกจากนี้ การที่การนำเข้า LNG จากจีนลดลง 15 ล้านตัน ประกอบกับการที่ผู้ซื้อในเอเชียใต้ลดการนำเข้าลง มีส่วนช่วยให้บรรดาประเทศในยุโรปมีก๊าซใช้อย่างพอเพียง และหลีกเลี่ยงภาวะขาดแคลนก๊าซได้ ทั้งนี้การที่ยุโรปมีความต้องการใช้ LNG เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลให้ราคา LNG ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และทำให้ตลาดพลังงานทั่วโลกเกิดความผันผวน
เมื่อปริมาณก๊าซที่นำส่งมาทางท่อจากรัสเซียน้อยลง LNG จึงกลายเป็นทรัพยากรหลักที่สำคัญต่อความมั่นคงทางพลังงานของยุโรปมากขึ้น โดยมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในการพัฒนาสถานีรับ-จ่าย LNG แห่งใหม่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปเป็นแรงหนุน ในทางกลับกัน ประเทศจีนก็มีการพัฒนาจากการเป็นตลาดนำเข้าที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ไปสู่ประเทศที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จนสามารถเข้ามาช่วยปรับสมดุลในตลาด LNG ของโลกได้
"สงครามในยูเครนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในด้านความมั่นคงทางพลังงานทั่วโลก และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในตลาด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม LNG ของโลกในระยะยาว"
สตีฟ ฮิลล์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการตลาดพลังงานของเชลล์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องมีการรับมือในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น ด้วยการยืดระยะเวลาของอายุสัญญาให้ยาวขึ้น เพื่อรับประกันว่าจะมีแหล่งพลังงานที่ไว้วางใจได้ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากราคาที่อาจพุ่งสูงขึ้น
การนำส่งก๊าซทางท่อจากรัสเซียที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการแทรกแซงเชิงนโยบายและกฎระเบียบในลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากรัฐบาลในยุโรปพยายามเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและปกป้องเศรษฐกิจจากต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงการให้ความสำคัญในการนำเข้า LNG และการพัฒนาสถานีรับ-จ่าย LNG แห่งใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว
ในปี 2022 ความต้องการ LNG ในยุโรปเป็นปัจจัยกดดันให้ผู้นำเข้ารายอื่น ๆ ต้องลดการนำเข้าและเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นแทน ซึ่งส่งผลให้มีการปล่อยมลภาวะออกมามากขึ้น ราคา LNG ที่สูงขึ้นทั่วโลกนำไปสู่การลดการนำเข้า LNG ในเอเชียใต้ โดยปากีสถานและบังคลาเทศหันไปนำเข้าน้ำมันเตามากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากภาวะขาดแคลนพลังงาน ส่วนอินเดียก็หันไปใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น
ปริมาณการค้า LNG ทั่วโลกในปี 2022 เพิ่มขึ้นถึงระดับ 397 ล้านตัน โดยผู้เกี่ยวข้องในตลาด LNG คาดว่าความต้องการ LNG จะขึ้นไปแตะ 650 ถึงกว่า 700 ล้านตันต่อปีภายในปี 2040 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการลงทุนในโครงการผลิต LNG ให้มากขึ้น เพื่อเลี่ยงปัญหาอุปสงค์-อุปทานที่คาดว่าจะก่อตัวในช่วงปลายทศวรรษ 2020
การมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่หลากหลายเข้ามาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทานของก๊าซธรรมชาติและ LNG เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมบทบาทของก๊าซธรรมชาติและ LNG ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน อีกทั้งอุตสาหกรรมยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับใช้ก๊าซที่ผลิตจากกระบวนการลดคาร์บอน รวมทั้งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพลังงานทดแทน ก๊าซธรรมชาติสังเคราะห์ ไฮโดรเจน และแอมโมเนีย ทั้งนี้ เพื่อส่งมอบความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต