นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากกรณีวิพากษ์วิจารณ์แบบเรียนหนังสือภาษาไทยพาที ระดับชั้น ป.5 ซึ่งมีเนื้อหา กินไข่ต้มครึ่งซีกเหยาะน้ำปลา หรือ ข้าวเปล่าคลุกน้ำผัดผักบุ้ง ทำให้ตัวละครในหนังสือมีความสุข ถือเป็นความพอเพียง เห็นคุณค่าชีวิต จนสังคมตั้งคำถามถึงโภชาการของเด็ก เรื่องดังกล่าวต้องดูที่เจตนารมณ์ว่า เรามีเป้าหมายให้บทเรียนแต่ละบทเรียนสอนเรื่องอะไร โดยกระบวนการเรียนรู้มีขั้นตอนให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้และสื่อประกอบการจัดการเรียนรู้ ประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นสื่อประเภทหนึ่งที่ใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้เท่านั้นไม่ใช่เป็นหนังสือเรียน โดยบทเรียนดังกล่าวเราต้องการให้เด็กนำภาษาไปใช้และการแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดและเห็นคุณค่าของความสุขผ่านบทวรรณกรรม ดังนั้นคนเขียนจึงออกแบบด้วยการกำหนดตัวละครขึ้นในชีวิตจริง มีทั้งคนจนและคนรวย และคนที่เลือกเกิดไม่ได้ ซึ่งเป็นบทบาทสมมติของครอบครัวที่ร่ำรวยอยู่สุขสบายแต่หาความสุขไม่เจอ แต่อีกครอบครัวที่ยากลำบากมีไข่ชิ้นเดียวแบ่งปันกันด้วยความสุข ซึ่งไข่ต้มในบทวรรณกรรมนั้นไม่พูดถึงโภชนาการ แต่เล่าถึงความสุขง่ายๆ จากการแบ่งปัน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ไม่อยากให้มีเรื่องดรามาเกิดขึ้น เพราะการเรียนรู้เรื่องหลักโภชนาการของนักเรียนที่เด็กต้องเรียนรู้มีอยู่ในหลักสูตรวิชาสังคมศึกษา หมวดสุขศึกษาอยู่แล้ว อีกทั้งการจัดทำอาหารกลางวันในกลุ่มเด็กประถมศึกษาทุกคน จะต้องได้รับโภชนาการที่ครบ 5 หมู่จากการทำแผนผัง School lunch ซึ่งบทเรียนดังกล่าว เป็นการเปรียบเทียบให้เด็กวิเคราะห์ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงไหนมากกว่า ดังนั้น สพฐ. ไม่กังวลว่าดราม่าที่เกิดขึ้น จะเบี่ยงประเด็นไปในรูปแบบไหน เพราะ สพฐ. อยู่ภาคการศึกษา ซึ่งเรายินดีที่จะรับฟัง เนื่องจากทุกความคิดมีประโยชน์และทุกคนมีวิจารณญาณในการวิเคราะห์ อีกทั้งการจัดทำหนังสือหนึ่งเล่ม เราไม่ได้ทำคนเดียว ต้องผ่านกระบวนการการตั้งคณะกรรมการและการตรวจสอบจากนักวิชาการ โดยตนเข้าใจดีว่า เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์ผ่านไป อาจจะต้องปรับเนื้อหาหนังสือให้มีความทันสมัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สพฐ. เปิดโอกาสให้สำนักพิมพ์เสนอขอปรับปรุงสื่อการสอนของตัวเองมาได้ ซึ่งสื่อที่ผลิตใหม่นำเสนอใหม่ ถ้ามีหลักสูตรใหม่เกิดขึ้นมา หลักสูตรเก่าก็ต้องไม่มีการใช้สอนอยู่แล้ว