วันที่ 16 เม.ย. 25566 จากกรณีที่ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน ได้กล่าวถึงผลโพลของซูเปอร์โพล กรณีผลประมาณการจำนวนที่นั่ง ส.ส. ว่าไม่ครอบคลุม ผิดหลักวิจัย ทำนายไม่ต่างจากหมอเดา ไร้ความน่าเชื่อถือนั้น ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล ได้กล่าวชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า ซูเปอร์โพลขอขอบคุณ ดร.ณัฎฐ์วุฒิ ที่ได้วิพากษ์วิจารณ์ผลการศึกษาของซูเปอร์โพล ถือได้ว่าต่อไปนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา ตามหลักการ แนวคิด และวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ตนในฐานะผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพลจึงขอตอบฐานคติของ ดร.ณัฎฐ์วุฒิ ว่าซูเปอร์โพลได้ใช้เครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า Net Assessment หรือการประเมินขั้นสุทธิ สำหรับสังคมไทย เครื่องมือนี้เป็นนวัตกรรมเครื่องมือด้านข้อมูลด้วยการวิจัยทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพจริง โดยเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Mode of Data Collection) ทั้งข้อมูลทุติยภูมิ ปฐมภูมิการสัมภาษณ์ และให้คนตอบเองผ่านทางโทรศัพท์และเดินดินเคาะประตูบ้านครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่มาสร้างโมเดลคณิตศาสตร์และผลลัพธ์ในการออกผลการศึกษาจำนวนที่นั่ง ส.ส. ครั้งนี้ จึงเป็นไปได้ว่า ฐานคติของ ดร.ณัฎฐ์วุฒิ อาจจะคลาดเคลื่อนไปเกินขอบเขตความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ซึ่งล้ำเส้นเข้ามาในขอบเขตความเชี่ยวชาญกันคนละด้านที่คณะทำงานของซูเปอร์โพลสะสมการทำงานด้านข้อมูล ความแม่นยำตามหลักสากลมากว่า 20 ปี จึงขออย่าล้ำเส้นกัน 

ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า ตนขออธิบายหลักการแจกแจงรายละเอียดที่ใช้ในการศึกษาประมาณการจำนวนที่นั่ง ส.ส. ครั้งนี้ ดังนี้ 1. คำนิยามศัพท์ที่ใช้ คำว่า ฐานคติ อาจจะหมายรวมถึง สิ่งที่บางคนแสดงออกโดยไม่รู้สึกตัว เร่งรีบ ร้อนรน สะท้อนความเชื่อที่คิดว่าเป็นจริงอาจเกิดจาก อคติ ส่วนตัว การรับรู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และพฤติกรรมของคนนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ ที่จำเป็นต้องได้รับการชี้แจงและบอกกล่าวหาจุดเห็นพ้องต้องกันร่วมกัน เพื่อพัฒนาในทางที่ดีขึ้นต่อองค์ความรู้ ข้อเท็จจริงมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว ส่วนศัพท์อื่น ๆ เช่น การวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นต้น หาอ่านได้ทั่วไป 2.ผลการศึกษาของ ซูเปอร์โพล ในการประมาณการจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ จำนวนที่นั่งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 ที่นั่ง และจำนวนที่นั่งแบบบัญชีรายชื่อ 100 ที่นั่ง อธิบายในรายละเอียดเบื้องต้นได้ ดังนี้ 1. ซูเปอร์โพล มีการเก็บข้อมูลสถิติผลการเลือกตั้งปี 2562 และสำรวจเกาะติดทัศนคติ ความคิดเห็น และพฤติกรรมของประชาชนในทางการเมืองมาโดยตลอด จึงได้ใช้ Mathematical Model กับตัวเลขที่ค้นพบทุกเขตเลือกตั้งที่ผ่านมา จึงทำมากกว่าการทำโพลเพียงอย่างเดียว เครื่องมือนี้เรียกว่า Net Assessment หรือการประเมินขั้นสุทธิ ซึ่งเครื่องมือนี้มีอยู่จริงและกลายเป็นสำนักงาน Net Assessment ในเพนตากอน กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา ที่ผมเคยเข้าไปศึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้าน Net Assessment ที่นั่นเป็นเวลา 2 ปี Net Assessment ช่วยทำให้เห็นภาพอนาคต (Scenario) ที่ชัดเจนแม่นยำว่าอะไรจะเกิดขึ้น ลองใช้เสิร์ชเอนจิน ค้นดูได้ 

ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า 2. สิ่งที่ค้นพบคือ ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ย้ายขั้ว และการย้ายพรรคของผู้สมัครไม่มีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และปัจจัยอื่น ๆ ก็เช่นกัน ถ้าหากมีเวลาจะอธิบายในรายละเอียดในโอกาสต่อไป เป็นต้น เมื่อปัจจัยสำคัญส่วนใหญ่เหมือนเดิมจึงทำให้การเก็บค่าสถิติจากทุกเขตเลือกตั้งในเชิงปริมาณที่มากกว่าการทำโพลสามารถนำมาเป็นผลการศึกษาความเป็นไปได้ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. แต่ละเขตเลือกตั้งได้ และพบด้วยว่าประชาชนส่วนใหญ่เลือกคนไหนก็คนนั้นและประชาชนชอบพรรคไหนก็พรรคนั้น แต่ถ้าซูเปอร์โพลนำทุกอย่างมาเสนอในครั้งเดียวจะเยอะเกิน คณะวิจัยซูเปอร์โพล จึงทำ Math Model ประมาณการจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขต ตามผลการศึกษาที่เผยแพร่ไปที่มากกว่าการทำโพลเพียงอย่างเดียว โดยคณะทำงานซูเปอร์โพล เก็บข้อมูลต่อเนื่องที่เป็น Empirical Data มาเติมใน Math Model และยังเหลือเวลาอีกประมาณ 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง เชื่อมั่นว่าจะให้ความแม่นยำ ที่ ดร.ณัฎฐ์วุฒิ น่าจะสืบค้นประวัติความแม่นยำของซูเปอร์โพลได้ไม่ยาก เพราะขนาดข้อมูลส่วนลึกของซูเปอร์โพล ยังไปหามาได้แต่ทำไมเรื่องความแม่นยำของ ซูเปอร์โพล ที่ ดร.ณัฎฐ์วุฒิ ไม่เอามาบอกสังคมหรือต้องถามหาความเป็นกลางและความบริสุทธิ์ใจของ ดร.ณัฎฐ์วุฒิ 

ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า 3. ซูเปอร์โพล ใช้ตัวอย่าง 6 พันกว่าตัวอย่างที่ครอบคลุมหลากหลายด้าน เพศ อายุ อาชีพ การศึกษา รายได้ และภูมิภาค ทั่วประเทศเพื่อประมาณการจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ มีการระบุผลการศึกษาแบบจุด (Point Estimation) และแบบช่วง (Interval Estimation) อย่างชัดเจนในตาราง และขนาดตัวอย่างเท่านี้มากกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา ส่วนกรณีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ ดร.ณัฎฐ์วุฒิ ยกมาจำนวน 52,287,045 นั้น แต่ซูเปอร์โพลได้ตัวเลขที่รวบรวมจาก ทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครองจำนวน 53,094,778 คน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีความแตกต่างกันประมาณร้อยละ 1.5 แต่ไม่ว่าจากฐานใดก็ตาม ถ้าผิดพลาดก็ยังไม่ทราบชัดเจนว่าแหล่งที่มาของใครผิดพลาดแต่คลาดเคลื่อนแตกต่างกันร้อยละ 1.5 น่าจะยอมรับได้ในทางสถิติ แต่ ดร.ณัฎฐ์วุฒิ ลองดูภาษาอังกฤษที่ดร.ณัฎฐ์วุฒิ ใช้อาจจะพิมพ์ผิดโดยไม่เจตนาคำว่าวิจัยเชิงคุณภาพในเอกสารที่เผยแพร่ออกสื่อ เพราะเห็นอยู่ในหลายสำนักจึงน่าจะมาจากแหล่งต้นฉบับหรือไม่ เพราะที่ต้องเขียนให้ถูกต้องคือ Qualitative นี่คือคำศัพท์พื้นฐานด้านการวิจัยเบื้องต้นใน Research 101

ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า 2. การชี้แจงทั้ง 2 ข้อข้างต้นจึงเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แบบที่ ดร.ณัฎฐ์วุฒิ กล่าวมาแบบเป็นฐานคติส่วนตัว ซึ่งดีตามแบบฉบับของ ดร.ณัฎฐ์วุฒิ แต่ซูเปอร์โพลเคารพในทุกศาสตร์แม้แต่หมอดู ต่าง ๆ ท่านเหล่านั้นก็มีศาสตร์ของท่าน ซูเปอร์โพลจะไม่นำมาเปรียบเทียบให้รู้สึกว่าไปดูถูกดูแคลนคนอื่นเขาให้เกิดการกินแหนงแคลงใจกัน เพราะทุกคนควรอยู่ในขอบเขต พูดอธิบายความในขอบเขตความเชี่ยวชาญของตน ไม่ล้ำเส้นกัน แต่เมื่อมีฐานคติแบบนี้ของ ดร.ณัฎฐ์ฯ จึงทำให้ซูเปอร์โพล ได้ออกมาชี้แจงในข้างต้น และ 3. โดยสรุป เพื่อความเข้าใจอันดีต่อกัน ตนขอขอบคุณ ดร.ณัฎฐ์วุฒิ ถ้าหาก ดร.ณัฎฐ์วุฒิ คิดจะให้ความรู้ประชาชนเรื่องข้อกฎหมายมหาชน ตนคิดว่าท่าน ดร.ณัฎฐ์วุฒิ เป็นนักกฎหมายมหาชนที่เก่งคนหนึ่ง แต่ถ้าหากจะก้าวข้ามมาอีกฝั่งหนึ่งของความเชี่ยวชาญด้านวิทยาการข้อมูล (Data Science) ก็น่าจะศึกษาค้นคว้าและมีประสบการณ์ที่สะสมมามากเพียงพอเพราะผลการศึกษาของซูเปอร์โพลมาจากการประยุกต์ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Net Assessment โดยมี Math Model ในการประมาณการจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบเขตเลือกตั้ง 400 ที่นั่งและใช้การสำรวจโพลที่เป็นปัจจุบันมากที่สุดในการประมาณการจำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 ที่นั่ง ตามที่เผยแพร่ไว้ในผลการศึกษา

"จากวันนี้ถึงวันเลือกตั้งเหลืออีกประมาณ 30 วัน ซูเปอร์โพลจะเติมข้อมูลเชิงประจักษ์เข้าไปใน Math Model และอัพเดตต่อเนื่อง จึงขอให้แต่ละฝ่ายนำไปพิจารณา โดยซูเปอร์โพล ไม่ได้ต้องการให้ใครมาเชื่อถือ เพราะผมเป็นคนเขียนบทความว่า อย่าเชื่อโพล หาอ่านได้ในเว็บไซต์ www.superpoll.co.th อย่างไรก็ตาม ขอให้ไปย้อนดูความแม่นยำของซูเปอร์โพลที่ผ่านมาได้ในสื่อและใช้เสิร์ชเอนจินสืบค้นในอินเทอร์เน็ตได้ เพราะซูเปอร์โพลมีหลักการการทำงานที่เป็นวิทยาศาสตร์และหลักสถิติศาสตร์ มากกว่าฐานคติส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง" ผศ.ดร.นพดล กล่าว