นางรำชายหญิง 99 ชีวิต รำบวงสรวง สักการะ ศาลพระหลักเมืองบุรีรัมย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมือง ยึดเหนี่ยวจิตใจ ที่เคารพนับถือ และปกป้องคุ้มครองชาวบุรีรัมย์ ในงานประเพณีสงกรานต์และสมโภชศาลพระหลักเมือง เทศบาลเมืองบุรีรัมย์
เมื่อเวลา 17.30 น.วันนี้ (14 เม.ย.66) ที่บริเวณศาลพระหลักเมืองบุรีรัมย์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ บรรดานางรำ จากส่วนราชการ และประชาชนจิตอาสา ในชุมชน นักเรียน และนักศึกษา ทั้งชายหญิง จำนวน 99 คน ได้รำบวงสรวง สักการะศาลพระหลักเมืองบุรีรัมย์ ในงานประเพณีสงกรานต์และสมโภชศาลพระหลักเมือง ประจำปี 2566 ซึ่งทางเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ร่วมส่วนราชการ สถานศึกษา และชุมชน จัดขึ้นที่บริเวณวัดกลางพระอารามหลวง และศาลพระหลักเมืองบุรีรัมย์
โดยมีนายสกล ไกรรณภูมิ นายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ เป็นประธานพิธี เพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี ความสมาฉันท์ในครอบครัวและชุมชน และเป็นการปลูกจิตสำนึกความเป็นไทยโดยการร่วมทำกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ร่วมกัน และเพื่อร่วมสมโภชศาลพระหลักเมือง ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์
โดยในปีนี้ ถือเป็นครั้งที่สอง ที่ทางเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ได้ร่วมกับส่วนราชการ และประชาชนจิตอาสา ในชุมชน นักเรียน นักศึกษา จัดให้มีพิธีรำบวงสรวง สักการะศาลพระหลักเมืองบุรีรัมย์ จากนางรำทั้งชายหญิง 99 คน แต่งกายด้วยชุดผ้าซิ่นตีนแดง เสื้อขาว และผ้าสีม่วงพาดบ่า
ลักษณะท่ารำ ส่วนมากจะเป็นท่าฟ้อนพื้นบ้านอีสานเบื้องต้น เป็นท่าพื้นฐานจะเน้นท่าง่ายๆ เพื่อให้นางรำที่สูงอายุสามารถรำได้ ซึ่งท่ารำแต่ละท่าจะเป็นการกราบไหว้ ท่าไหว้เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่บ้านเมือง คือ เจ้าพ่อหลักเมือง หลังจากนั้นก็เป็นท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์ของอีสาน ทั้งอีสานใต้ อีสานเหนือ เนื่องจาก จ.บุรีรัมย์ มี 4 ชาติพันธุ์ ก็นำท่ารำมาปรับประยุกต์ให้เป็นท่ารำของ จ.บุรีรัมย์ เพื่อที่จะเลือกท่ารำง่ายๆ ให้สามารถรำได้ทุกคนทุกเพศทุกวัย ผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้สูงอายุก็สามารถมารำได้ ท่วงท่าที่ออกไปก็สื่อถึงการไหว้ และบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
สำหรับ ศาลหลักเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นสถานที่ที่ชาวบุรีรัมย์นับถือศรัทธา และเดินทางมากราบไหว้ในโอกาสต่างๆ เดิมเป็นเพียงอาคารไม้ขนาดเล็ก ต่อมาได้มีการรื้อและก่อสร้างขึ้นใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2548 -2550 โดยรูปแบบ สถาปัตยกรรมนั้นเป็นศิลปะขอมโบราณ เลียนแบบมาจากปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งคงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นบุรีรัมย์ไว้อย่างชัดเจน
มีความเชื่อว่าบริเวณที่สร้างศาลหลักเมืองนี้เคยเป็นจุดที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในขณะนั้น) ได้ใช้เป็นจุดพักรบ และยังเป็นจุดกำเนิดเมืองบุรีรัมย์ด้วย โดยพระองค์ทรงเห็นว่า บริเวณนี้เป็นทำเลที่เหมาะสม มีสระน้ำ มีต้นแปะขนาดใหญ่ จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งชื่อเมืองนี้ว่า “เมืองแปะ” ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองบุรีรัมย์ในสมัยต่อมา
อาคารศาลหลักเมืองบุรีรัมย์ มีลักษณะเป็นองค์ปรางค์ มียอดทั้งหมด 5 ชั้น แต่ละชั้นประดับกลีบขนุนและเทพประจำทิศ เพื่อปกป้องรักษาทิศต่างๆ องค์เรือนธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระหลักเมืองชักมุมออกทั้ง 4 ด้าน อันหมายถึง การกระจายความเป็นหลักฐานความมั่นคงออกไปทั้ง 4 ทิศ
ส่วนยอดศาลพระหลักเมืองตกแต่งด้วยรูปดอกบัวเป็นสเตนกลาสประดับทอง เพื่อนำแสงเข้าสู่หลักเมือง ภายในตัวศาลได้ตั้งเสาหลักเมืองตรงกลางองค์ปรางค์ พร้อมกับอันเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระเสื้อเมือง เทพารักษ์ และพระทรงเมือง เพื่อมาปกปักษ์รักษา คุ้มครองให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข
เสาหลักเมืองบุรีรัมย์ มีอยู่ 2 ต้น โดยสร้างไว้ใกล้ชิตติดกัน มีข้อสันนิษฐานว่า เสาต้นที่ 1 (ต้นเอียง) เป็นเสาหลักเมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อสร้างเมืองแปะ ส่วนเสาหลักเมืองต้นที่ 2 น่าจะเป็นเสาหลักเมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อมีฐานะเป็นจังหวัดบุรีรัมย์ ด้านข้างศาลหลักเมือง ยังมีศาลเจ้าจีนที่ประดิษฐานรูปเหมือนเจ้าพ่อหลักเมืองเพื่อให้ชาวไทยเชื้อสายจีน ได้มากราบไหว้ในบริเวณเดียวกัน โดยด้านซ้ายมีองค์เทพเจ้าไฉ่ซึ่งเอียะซึ่งเป็นเทพเจ้าด้านเงินทองและโชคลาภ ส่วนด้านขวามีองค์เทพเจ้ากวนอูซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ การต่อสู้ แข่งขัน ชิงชัย
ศาลหลักเมืองที่งดงาม ซึ่งผสมผสานสถาปัตยกรรมและความเชื่อหลากหลายเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว และเป็นเอกลักษณ์แห่งนี้ จึงเป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจและเป็นทั้งความภาคภูมิใจของชาวบุรีรัมย์ในขณะเดียวกัน