13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันสงกรานต์ คนไทยได้ยึดถือประเพณีอันดีงามสืบต่อกันมาแต่ โบราณกาล ถัดมาอีก 1 วันคือวันที่ 14 เมษายน ของทุกปีเป็นวันครอบครัว มุ่งหวังจะให้มีการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีแต่ดั้งเดิม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจบ้านเมือง และยังเป็นช่วงที่คนไทยส่วนได้เดินทางกลับบ้าน ทำให้เทศกาลสงกรานต์ จึงถือเป็นโอกาสรวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี รดน้ำดำหัว ขอพร ผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และเพื่อความอบอุ่น เป็นสุขของครอบครัว ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา

รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 14 เมษายนเป็นวันครอบครัว เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของสถาบันครอบครัว และใช้เวลาว่างในวันหยุดสุดสัปดาห์ร่วมกันอีกทั้งยังส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ ระหว่างสมาชิกในครอบครัวและสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัวจะส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีครอบครัวแข็งแรง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสังคมไทยในด้านต่างๆ แม้จะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด แต่ก็มีความสำคัญอย่างมาก เพราะสถาบันครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของคุณภาพชีวิตของผู้คน ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขก็ถือว่าเป็นความเข้มแข็งของชุมชน หมู่บ้าน สังคมด้วยเช่นกัน

ประวัติวันครอบครัว

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก จึงให้ถือโอกาสเดียวกันนี้เป็นวันแห่งการรวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี รดน้ำดำหัว ตลอดจนการขอพรผู้ใหญ่ตามประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมา

ความสำคัญของวันครอบครัว

ครอบครัวคือ สถาบันมูลฐานของมนุษย์ชาติ เป็นหน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม เป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม เป็น สถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนา ผู้ร่วมครัวเรือน คือ สามี ภรรยา และบุตร การที่ทางราชการกำหนดวันครอบครัวขึ้นมานั้น เนื่องจากต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวให้มากขึ้น เพราะการที่วิถีชีวิตของคนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ย่อมทำให้ครอบครัวมีความขัดแย้ง และห่างเหินกันมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาทีหลังได้

ความหมายของสถาบันครอบครัว

-ความหมายทั่วไป

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า "สถาบัน" และ "ครอบครัว" ไว้ดังนี้

สถาบันหมายถึงสิ่งซึ่งคนในส่วนรวมคือ สังคมจัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว ฯลฯ

ครอบครัวหมายถึงผู้ร่วมครัวเรือนคือ สามี ภรรยา และบุตร

-ความหมายตามแนวพุทธศาสตร์

ครอบครัวตามแนวพุทธศาสตร์ ไม่มีการกำหนดตายตัว แต่กล่าวถึงลักษณะอันเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น ในทางพุทธศาสนาจะกล่าวถึงครอบครัวในรูปของสามีภรรยา บิดา มารดา เท่านั้น ซึ่งถือว่า มารดา บิดาก็ดี สามี ภรรยาก็ดี เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของครอบครัว

-ความหมายในแง่สถาบัน

ครอบครัวหมายถึงการอยู่ร่วมกันของชายหญิง ในรูปของสามี ภรรยา มีหน้าที่ให้กำเนิดบุตรและเลี้ยงดูบุตร เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ สมาชิกในครอบครัวมีการแสดงออกทางพฤติกรรมต่อกันและกัน ในรูปของการปฏิบัติตามสถานภาพและบทบาทอันเป็นหน้าที่ของสมาชิก