นาย จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์ ระบุว่า...
“จตุพร” ค้าน “เศรษฐา-เพื่อไทย” คิดใหญ่ ทำเป็น แจกเงิน 5.4 แสนล้านบาทคนละหมื่นบาท จวกจะทำ ปท.ฉิxหาย ขยี้อ้างเท่าเทียมตาม รธน. ไม่จริง ซัดขัด รธน. ม.30 เหตุคนแรกเกิดถึงอายุ 16 ปีไม่ได้รับอย่างเสมอภาค เผยไต๋ไปกันใหญ่ รับสารภาพไม่แจกตั้งแต่อายุ 18 ปีหวั่นเข้าข่ายซื้อเสียง ย้ำคนรวย 32 ล้านคนไม่สมควรได้รับ ยันคนจน 22 ล้านคนผู้เดือดร้อนจริง ต้องได้รับเงินไปเยียวยาปากท้อง
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2566 นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน "แจกคนจน-รวย เท่ากัน ตามรัฐธรรมนูญจริงหรือ?" ระบุว่า คำกล่าวอ้างของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ยึดหลักเท่าเทียม รธน. 2560 ในการแจกเงินดิจิทัล จึงเป็นคำพูดที่ขัด รธน. ม.30 เพราะบัญญัติความเท่าเทียมของบุคคลไว้ตั้งแต่เกิด ดังนั้น การแจกเงินตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปจึงไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน
นายจตุพร กล่าวว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งจึงต้องคัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ถึงที่สุด เพราะสถานการณ์ของประเทศที่แท้จริงยังมีหนี้สาธารณะกว่า 10 ล้านล้านบาท และหนี้ครัวเรือนเกิน 14 ล้านล้านบาท จึงเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่ใช่ประเทศมีสถานะเศรษฐกิจแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ ระบุว่า นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กรณีแจกเงินทุกคนทั้งคนรวย คนจน โดยอ้างความเท่าเทียม เพราะ รธน.กำหนดไว้ให้ยึดหลักเท่าเทียมเสมอภาค และถ้าแจกคนอายุ 18 ปีจะคิดว่าซื้อเสียง ส่วนอายุ 16 ปีก็มีวุฒิภาวะพอสมควร
อย่างไรก็ตาม นายจตุพร อ่าน รธน. 2560 บัญญัติความเสมอภาคไว้ใน ม. 30 ว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงเท่าเทียมกัน ดังนั้น นายเศรษฐา กล่าวอ้างความเท่าเทียมจึงย้อนแย้งกัน เพราะหากอ้างตาม รธน.แล้ว ความเท่าเทียมกันต้องยึดตั้งแต่คนเกิดมาจนถึงอายุ 16 ปีควรได้รับแจก 10,000 บาทเท่ากันหมด เมื่อกำหนดแจกตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปจึงแสดงถึงเจตนาทำผิด รธน. เนื่องจากคนตั้งแต่เกิดถึงอายุไม่เกิน 16 ปีไม่ได้รับแจกเงินดิจิทัลด้วย
อีกทั้ง เห็นว่า นายเศรษฐาอ้างแจกเงินไม่เริ่มแจกตั้งแต่อายุ 18 ปี เหตุจะเข้าข่ายซื้อเสียง ดังนั้น แสดงถึงการรู้อยู่เต็มอกได้หลีกหนีการซื้อเสียง อย่างไรก็ตาม คำว่าคิดใหญ่ ทำเป็น ควรเพิ่มคำว่าฉิบหายเป็นด้วย เพราะหลากหลายเรื่องราวที่ผ่านมากับการกล่าวอ้างความสำเร็จล้วนเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผลประโยชน์ส่วนตัวที่ได้ทำสำเร็จแล้วตามคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งเป็นที่สิ้นสุด
"เหตุนี้การอ้างแจกเงินตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป จึงแสดงได้ชัดเจนจะหลีกเลี่ยงการแจกเงินซื้อเสียงให้คนอายุ 18 ปี แต่การใช้งบประมาณมากถึง 5.4 แสนล้านบาทแจกคน 54 ล้านคน จึงคิดเป็นอื่นไม่ได้ว่า คนมีสิทธิ์เลือกตั้งอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปได้รับแจกเงิน 100% จึงย่อมไม่แตกต่างจากการเสนอประโยชน์หรือสัญญาซื้อเสียงล่วงหน้าที่จะจ่ายในเวลา 6 เดือนเมื่อชนะเลือกตั้งหรือได้เป็นรัฐบาลนั่นเอง"
นายจตุพร กล่าวว่า หลักการช่วยเหลือความเดือดร้อนนั้น ต้องมุ่งไปที่คนเดือดร้อนสูงสุดเพื่อเยียวยาให้มีชีวิตอยู่ได้ จึงต้องแยกระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งคนจนไม่มีความเท่าเทียมเสมอภาคกับคนรวยแน่นอน สิ่งสำคัญเมื่อพรรคเพื่อไทยถูกไล่ต้อนการแจกเงินดิจิทัล ก็แก้ตัวเปลี่ยนมาเรียกเป็นเงินคูปอง เหนืออื่นใดแล้ว โครงการนี้มีหลักคิดใหญ่เป็นเรื่องการตลาดการเมืองที่ต้องการคะแนนเสียงเท่านั้น
รวมทั้ง นโยบายแจกเงินของพรรคการเมืองอื่นที่เน้นเฉพาะกลุ่ม ไม่หว่านแจกทั่วไปให้ทุกคนเหมือนพรรคเพื่อไทย โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เสนอเพิ่มเงินเป็น 1,000 บาทต่อเดือนให้บัตรคนจนหรือบัตรประยุทธ์ ถ้า 4 ปีตามวาระรัฐบาลก็เป็นเงิน 48,000 บาท พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอเพิ่มเงินเป็น 700 บาทต่อเดือน หรือปีละ 8,400 บาทหรือ 4 ปีตามวาระรัฐบาลก็เป็นเงิน 33,600 บาท ขณะที่เบี้ยบำนาญคนสูงวัยของพรรคไทยสร้างไทยจ่ายให้เดือนละ 3,000 บาท ปีละ 36,000 บาท หรือ 4 ปี 144,000 บาท
ดังนั้น ไม่มีพรรคการเมืองใดใช้เงินดิจิทัลหว่านแจก 10,000 บาทให้ทุกคนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปเหมือนพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องใช้เงินมากถึง 5.4 แสนล้านบาทในเวลา 6 เดือน ย่อมก่อผลกระทบกับภาระงบประมาณของประเทศ ซึ่งแบกหนี้สินมากล้นพ้นตัวอยู่ในขณะนี้
อีกอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ว่า หลังจากหักภาระหนี้ผูกพัน และจ่ายเงินเดือนข้าราชการแล้ว ประเทศมีเงินเหลือ 2 แสนล้านบาทเท่านั้น เหตุนี้แสดงได้ชัดเจนถึงนโยบายแจกเงินของนายเศรษฐา ยิ่งไปซ้ำเติมภาระหนี้ของประเทศโดยหลีกเลี่ยงไม่พ้นต้องกู้เงินมาแจกให้คนรวยที่ไม่สมควรต้องได้รับอย่างยิ่ง
ส่วนนายเศรษฐา อ้างต้องปั้มหัวใจคนเดือดร้อนทางเศรษฐกิจนั้น นายจตุพร เปรียบเทียบว่า คนถูกปั้มหัวใจต้องเป็นคนในห้องไอซียู ไม่ใช่คนใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งถ้าปั้มหัวใจคนปกติแล้ว ย่อมเป็นคนบ้าปัญญาอ่อน ดังนั้น คนสมควรต้องปั้มหัวใจจึงเป็นคนจนจำนวน 22 ล้านคนที่ถือบัตรคนจนต้องได้รับแจกเงิน 10,000 บาทอย่างเร่งด่วน ส่วนคนรวยที่ใช้ชีวิตตามปกติจะไปปั้มหัวใจ ไปแจกเงินให้ทำไม
นายจตุพร ย้อนทวนการกล่าวอ้างของนายเศรษฐา นำมาเปรียบเทียบกับคำพูดของทักษิณ ชินวัตร ผู้นำจิตวิญญาณพรรคเพื่อไทย โดยนายเศรษฐา บอกว่า ไม่ต้องการมาหยอดน้ำข้าวต้มทีละ 500-1,000 บาท ถ้าแจกที่เดียว 10,000 บาทจะช่วยประชาชนพ้นจากความยากจนได้ ส่วนทักษิณ บอกว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินเป็นคนปัญญาอ่อน ถ้ามีปัญญาแล้วจะใช้เงินไปสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแรงขึ้นจะดีกว่า
"อย่างนี้แล้ว จะเชื่อเศรษฐา หรือเชื่อทักษิณดี หรือให้สองคนนี้ไปคุยกันก่อน ตกลงกันก่อนจึงมาออกเป้นนโยบายพรรคเพื่อไทย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ สิ่งนี้เป็นการตลาดทางการเมือง ผมจะบอกให้ เมื่อคิดใหญ่ ก็ต้องฉิบหายเป็น เช่นเดียวกับการเคยเสนอแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นการคิดใหญ่ เพราะไม่มีใครกล้าสู้ด้วย แต่ก็ฉิบหายเป็นหรือไม่?"
นายจตุพร กล่าวว่า วันนี้สิ่งสำคัญคือ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศมาต่อเนื่องกว่า 8 ปี มีคนจนเพิ่มเป็น 22 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในสามของจำนวนประชากรไทยประมาณ 67 ล้านคน แต่รัฐบาลกลับภาคภูมิใจอย่างน่าอเนจอนาถที่มีคนจนเพิ่มมากขึ้น และตัวเลขคนจนได้สะท้อนว่า ฐานะประเทศอยู่ในระดับด้อยพัฒนา
อีกทั้งเสนอว่า การแจกเงินให้คนจน 22 ล้านคน ย่อมเป็นความอเนจอนาถอยู่แล้ว แต่วันนี้พรรคเพื่อไทย โดยนายเศรษฐา กลับขยับฐานการแจกเป็น 54 ล้านคน แต่ไม่มีคนแรกเกิดจนถึงอายุ 16 ปีได้รับแจกด้วย แล้วมาอ้างความเสมอภาคเท่าเทียมกัน จึงเป็นหลักคิดที่ผิดหรือขัด รธน. ตาม ม. 30 และได้สารภาพผิดอย่างแน่ชัดยิ่งแล้ว เพราะความเท่าเทียมเสมอภาคตาม ม. 30 ต้องรวมถึงคนแรกเกิดถึงอายุ 16 ปี โดยไม่ได้ระบุให้เริ่มแจก แต่มาให้ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป
พร้อมกับระบุว่า การเขียนนโยบายแจกเงินดิจิทัลให้ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปแบบนี้ ไม่ได้เป็นเน้นถึงความฉลาดอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย อีกอย่างยิ่งแจกให้เสียงละหมื่นบาทย่อมไม่มีใครสู้แนวทางการตลาดการเมืองที่น่าสงสัยและหมิ่นเหม่ต่อข้อหาการสัญยาจะซื้อเวียงล่วงหน้า โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรตรวจอสอบให้ได้ข้อเท็จจริงปรากฎ
"การแจกเงินคนจน ผมยืนยันว่า ไม่ขัดข้อง แต่การอธิบายเงินดิจิทัลให้ถอยกลับมาเหลือเพียงคูปอง ซึ่งผมใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2519 ดังนั้นเงินดิจิทัลเมื่อถูกจับได้ไล่ทันจึงไปอาศัยแนวทางเก่าแบบอนาล็อกมาอธิบายเอาตัวรอด ไม่ได้คิดใหม่เลย จะหาเสียงก็หาเสียงไป แต่อย่าใช้วิธีนี้ แล้วคนรวยควรจะได้ด้วยหรือไม่ ถ้าให้พวกนี้ก็เอา แล้วบ้านเมืองจะอยู่ในสภาพอย่างไรกัน"
นายจตุพร กล่าวว่า แม้เงินแจก 10,000 บาท คิดตลอดเวลาวาระรัฐบาล 4 ปีจะเป็นเงินนิดเดียวเท่านั้นเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่น ส่วนการอธิบายทางการตลาดการเมืองกลับเน้นจำนวนเงินแจก 10,000 บาท ทำให้เข้าใจว่ามากมาย และสิ่งสำคัญกลับไปแจกให้กับคนรวยที่ไม่สมควรต้องแจกให้ เพราะไม่ใช้คนเดือดร้อน แลพไม่ใช่คนต้องไปหยอดน้ำข้าวต้มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม นายจตุพร อ้างบทความนางธาริสา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า เศร้าใจกับนโยบายแจกเงินที่ไร้ความรับผิดชอบของนักการเมือง เพราะต้องหาเงินมาโปะหนี้อีก 5 แสนล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะประเทศเพิ่มเกินเพดานการสร้างหนี้ด้วย ย่อมแสดงถึงฐานะประเทศไม่มั่นคง
นายจตุพร กล่าวว่า การออกแบบนโยบายของนักการเมืองมักหาเหตุผลมาอธิบายตามหลังเสมอ หากคิดอย่างรอบคอบมาก่อนแล้ว จะมาอ้างความเท่าเทียมเสมอภาคตาม รธน.บัญญัติไม่ได้เลย เพราะไม่ได้ให้คนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 16 ปี ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นชัดถึงการพยายามหลบหนีจากข้อสงสัยของสังคมที่หวั่นกลัวประเทศฉิบหาย จากการมุ่งเอาประโยชน์เพียงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น
"การอธิบายว่า ไม่กู้เงิน ไม่ขึ้นภาษี แล้วเงินแจกกว่า 5 แสนล้านบาทมาอย่างไร เมื่อนายวิษณุ บอกงบประมาณปี 2567 หลังหักหนี้ผูกพัน เงินเดือน เหลือเงิน 2 แสนล้านเท่านั้น แล้วเงินแจกดิจิทัลจะมาอย่างไร เดี๋ยวก็อธิบายเป็นแบบรายวันกันอีก แบบนี้ผมบอกว่า คิดใหญ่ก็ฉิบหายเป็น แบบนี้ถ้าโครงการสำเร็จไม่รู้จะมีคนติดคุกกันอีกกี่คน"
พร้อมย้ำว่า วันนี้ประเทศเป็นหนี้มากมายถึงกับล้นพ้นตัวแล้ว หนี้สาธารณะ 10 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือน 14 ล้านล้านบาท ดังนั้น คนที่ไม่อยู่ในทะเบียนบัตรคนจน 22 ล้านคนต้องเสียสละเงินแจกดิจิทัล เพราะต้องกู้หนี้มาแจกคนรวยถึง 3.2 แสนล้านบาท เป็นภาระเพิ่มดอกเบี้ยให้ประเทศแบกรับอีกมโหฬาร
"สิ่งสำคัญเราต้องกล้าบอกประชาชนว่า เราไม่เห็นด้วยนำเงินไปแจกคนรวย แต่คนจน 22 ล้านคนมีสิทธิ์จะได้รับ เราต้องกล้ายืนหยัดทวนกระแสในเรื่องนี้ ยิ่งคนที่แจกเงินคนรวยด้วยแล้ว ย่อมเข้าข่ายพวกเฮงซวย เพื่อต้องการผลประโยชน์ล่วงหน้าทางการเมืองเท่านั้น แต่ประเทศชาติกลับต้องหายนะ"
นายจตุพร เรียกร้องว่า คนที่ไม่ได้อยู่ในทะเบียนบัตรคนจน 22 ล้านคนต้องกล้าลุกขึ้นมาต่อต้าน เพราะนโยบายแจกเงินดิจิทัลยิ่งหนักกว่าการขายชาติ อีกทั้งหลักคิดการแจกคิดก็ผิดพลาด ยิ่งไม่มีเกิดความเท่าเทียม และไม่ใช่การปั้มหัวใจคนเดือดร้อน แล้วคนรวยเดินในห้างสรรพสินค้าเป็นคนเดือดร้อนต้องปั้มหัวใจด้วยหรือไม่ คนพวกนี้ไม่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และไม่สมควรต้องต้องได้รับเงินแจก 10,000 บาทด้วยซ้ำไป"
ขอบคุณข้อมูลเพจเฟซบุ๊ก :Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์ ,รายการประเทศไทยต้องมาก่อน