ช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ปีใหม่ไทย อยากเชิญชวนประชาชนไปสรงน้ำพระธาตุ เทวดานพเคราะห์ รับพรปีเถาะ ทางกรมศิลปากรโดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้อัญเชิญพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ มาประดิษฐาน ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ประชาชนได้สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต อันเป็นวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ในเทศกาลมหาสงกรานต์ รับพรปีเถาะ ระหว่างวันที่ 12 - 14 เมษายน 2566 และเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงามของไทย

พระธาตุที่อัญเชิญมานี้เป็นพระธาตุในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา ซึ่งเดิมทีประดิษฐานในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปองค์สำคัญซึ่งประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า) มาเป็นประธานในพิธี ส่วนประติมากรรมเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์นี้ ที่เชื่อว่าผู้เป็นเจ้าเรือนชะตามนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายตามความเชื่อโบราณ นอกจากนี้ข้อมูล(2564) ระบบทักษาในแผนผังอัฐจักรนี้ สร้างขึ้นตามแบบเทวดานพเคราะห์ของไทย แต่งกายคล้ายคลึงกับภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ 70 สำนักหอสมุดแห่งชาติ ที่สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสพระองค์ที่ 12 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กับพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งประติมากรรมเทวดาชุดนี้มีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทพยดาบนบานประตูหน้าต่างด้านในของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส(วัดพระแก้ววังหน้า) ที่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ทรงร่วมในการควบคุมการก่อสร้างเช่นกัน

ในส่วนของความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้ คือสามารถถ่ายทอดรูปแบบของเทพนพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทางและลักษณะของเทพนพเคราะห์ได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ และลักษณะของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าน่าจะหล่อขึ้นในราวรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา โดยเปรียบเทียบลักษณะประติมานวิทยากับภาพในสมุดไทย และรูปสัตว์ที่มีความเหมือนจริงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะวันตก

ความเชื่อ ในสมัยโบราณนั้นคนไทยไม่นิยมนับอายุตามวันเกิดกันเท่าใดนัก แต่มักจะนับตามการเถลิงศักราชใหม่ในช่วงปีใหม่ไทยคือสงกรานต์ หากปีใดมีความป่วยไข้ หรือทราบว่าถึงเวลาเปลี่ยนทักษา โดยเฉพาะเจ้านายก็จะขึ้นเกยส่งเทวดาเก่ารับเทวดาใหม่กัน ด้วยเชื่อว่าจะนำพาสิริมงคลมาพร้อมกับศักราชใหม่ ซึ่งในวันนี้ 14 เมษายน 2566 เป็นวันสุดท้ายของกิจกรรมการอัญเชิญพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ มาประดิษฐาน ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำขอพรปีใหม่ ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นนี้เท่านั้น