วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ อีกทั้งเป็นวันสงกรานต์ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้บรรดาลูกหลานทั้งหลายหันมอง และเอาใจใส่บุคคลสำคัญเหล่านี้ที่เป็นคนใกล้ตัว

แม้จะเป็นวัยที่หลายคนนิยามว่าเป็นไม้ใกล้ฝั่ง แต่ผู้สูงอายุทั้งหลายคือผู้สร้างประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองมาแล้วนับไม่ถ้วน หรืออย่างน้อยๆก็เป็นหนึ่งในผู้มีพระคุณของครอบครัวที่เราจะละเลยเสียไม่ได้ อีกทั้งผู้สูงอายุ ยังนับเป็นประชากรที่มีสัดส่วนมากถึง 3 ใน 5 ของประชากรโลก ด้วยเหตุนี้ทั่วโลกจึงพากันรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ด้วยการกำหนดวันผู้สูงอายุ ประหนึ่งเป็นเครื่องเตือนใจให้บรรดาลูกหลานทั้งหลายหันมอง และเอาใจใส่บุคคลสำคัญเหล่านี้ที่เป็นคนใกล้ตัว

สำหรับประเทศไทย วันผู้สูงอายุ ถูกผูกรวมไว้กับวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่านอกจากจะทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าตามวิถีชาวพุทธแล้ว กิจกรรมสำคัญอันดับต้นๆของวัน ก็คือการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือนั่นเอง

ความเป็นมาของวันผู้สูงอายุ

ในประเทศไทยเริ่มจุดประกายเรื่องนี้ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการกำหนดนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข และได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชรา บ้านบางแค เป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2496 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1.เพื่อให้การสงเคราะห์คนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือประสบปัญหาความทุกข์ยาก เดือดร้อน ยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้

2.เพื่อให้บริการแก่คนชราที่อยู่กับครอบครัวของตน แต่มีความต้องการบริการสงเคราะห์คนชราบางอย่าง เช่น การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด นันทนาการ

3.เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือยากจน ที่ไม่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูคนชราไว้ในครอบครัวได้

4.เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอันเกี่ยวกับคนชรา ไม่ให้เร่ร่อน ทำความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมและให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างผาสุกตามสมควรแก่อัตภาพ

5.เพื่อเป็นการตอบแทนคุณความดีที่คนชราได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ

6.เพื่อผู้สูงอายุจะได้คลายวิตกกังวล เมื่อชราภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้แล้วทางรัฐบาลมีหน้าที่จะเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูต่อไป

ต่อมาในปี พ.ศ.2525 ได้มีการจัดประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการคือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังได้กำหนดให้ปี 2525 เป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโดยกำหนดคำขวัญว่า "Add life to Years" เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ช่วยกันส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการวันอนามัยโลกของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติให้ใช้คำขวัญเป็นภาษาไทยว่า "ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน"

ในส่วนของรัฐบาลไทยสมัยนั้น ซึ่งตรงกับรัฐบาลของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้เห็นความสำคัญต่อนโยบายดังกล่าว โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และจัดให้มีกิจกรรมต่างๆสำหรับผู้สูงอายุทุกปี

วันผู้สูงอายุสากล

องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุสากล เริ่มมาตั้งแต่ปี 1999 หรือ พ.ศ.2542 ทั้งนี้ในปี พ.ศ.2525 องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และได้ให้ความหมายของคำว่า "ผู้สูงอายุ" หมายถึง บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุตอนต้นคือ บุคคลที่มีอายุ 60-69 ปี ทั้งชายและหญิง และผู้สูงอายุตอนปลายคือ บุคคลที่มีอายุ 70 ปี ขึ้นไป ทั้งชายและหญิง

ดอกไม้สัญลักษณ์ผู้สูงอายุ

รัฐบาลในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นอกจากจะอนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุ แล้วกำหนดให้ดอกลำดวน เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุด้วย

สำหรับสาเหตุที่เลือกดอกลำดวน เนื่องจากต้นลำดวนหรือหอมหวล (Melodorum fruticosum Lour) ตามชื่อไทยพื้นเมือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sphaerocoryne clavipes. จัดอยู่ในวงศ์ Annonaceae. เป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มาก ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ดอกสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเย็น กลีบแข็งแรงไม่ร่วงง่าย เปรียบเหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่คงคุณธรรมคุณงามความดีให้กับลูกหลานไว้เป็นแบบอย่างสืบต่อไป