วันสงกรานต์ไทย ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ไทย โดยใช้น้ำเป็นสื่อทางวัฒนธรรม และกำหนดวันสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี
คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า "ก้าวขึ้น" หรือ "ผ่าน"หรือ "เคลื่อนย้าย" หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งเข้าไปในอีกราศีหนึ่ง เช่นเคลื่อนจากราศีสิงห์ไปสู่ราศีกันย์ ซึ่งจะเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นทุกเดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือนยกเว้นว่าเมื่อพระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษเมื่อใดก็จะเรียกชื่อเป็นพิเศษว่า"มหาสงกรานต์" อันหมายถึง การก้าวขึ้นครั้งใหญ่ ซึ่งนับเป็นครั้งสำคัญ เพราะถือว่าวันนี้เป็นวันปีใหม่ตามคติพราหมณ์เป็นการนับทางสุริยคติจะตกในราววันที่13, 14, 15 เมษายน นอกจากนี้สงกรานต์ไทยยังมีการประกาศสงกรานต์ของแต่ละปีจากฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธีสำนักพระราชวัง
สำหรับประกาศสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 ดังนี้ ปีเถาะ (มนุษย์ผู้หญิงธาตุไม้) เบญจศก จุลศักราช 1385 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็นปกติสุรทิน วันที่ 14 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาที นางสงกรานต์ ทรงนามว่า กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ วันที่ 16 เมษายน เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1385 ปีนี้ วันเสาร์ เป็น ธงชัย วันพุธ เป็นอธิบดี วันศุกร์ เป็น อุบาทว์ วันศุกร์ เป็นโลกาวินาศ ปีนี้ วันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล200 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัว เกณฑ์ธัญญาหารได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหารพลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์อุดมสมบูรณ์ เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี (ดิน ) น้ำงามพอดี
การกำเนิดวันสงกรานต์ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาโดยใจความจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ว่า เมื่อต้นภัทรกัลป์ มีเศรษฐีคนหนึ่ง มั่งมีทรัพย์มาก แต่ไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุรา ซึ่งนักเลงสุรานั้นมีบุตร 2 คน ที่ผิวเนื้อดุจดั่งทอง วันหนึ่งนักเลงสุราเข้าไปในบ้านของเศรษฐีผู้นั้น แล้วด่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคายต่างๆ นานๆ เศรษฐีเมื่อได้ฟังแล้วจึงถามว่า พวกเจ้ามาพูดหยาบคายดูหมิ่นเราผู้เป็นเศรษฐีเพราะเหตุใด พวกนักเลงสุราจึงตอบว่า ท่านมีสมบัติมากมายแต่หามีบุตรไม่ เมื่อท่านตายไป สมบัติก็จะอันตรธานไปมหด หาประโยชน์อันใดมิได้ เพราะขาดทายาทผู้ปกครอง ข้าพเจ้ามีบุตรถึง 2 คน อีกทั้งรูปร่างงดงามเสียด้วย ข้าพเจ้าจึงดีกว่าท่าน เศรษฐีครั้นได้ฟังก็เห็นจริงด้วย จึงเกิดความละอายต่อนักเลงสุรายิ่งนัก นึกใคร่อยากได้บุตรบ้าง จากนั้นได้ทำการบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานเพื่อขอให้มีบุตร เมื่ออยู่ถึง 3 ปี ก็มิได้มีบุตรตามที่ปราถนา
เมื่อขอบุตรจากพระอาทิตย์และพระจันทร์มิได้ตามดังที่ปราถนา อยู่มาวันหนึ่งเมื่อถึงฤดูคิมหันต์ จิตรมาส (เดือน 5) โลกสมมติว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ คือ พระอาทิตย์ยกจากราศีมีนประเวสสู่ราศีเมษ ผู้คนทั้งหลายต่างพากันเล่นนักขัตฤกษ์อันเป็นการรื่นเริงขึ้นปีใหม่ไปทั่วทั้งชมพูทวีป ขณะนั้น เศรษฐีจึงพาข้าทาสบริวารไปยังต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำอันเป็นที่อยู่แห่งปักษีชาติทั้งหลาย เอาข้าวสารซาวน้ำ 7 ครั้งแล้วหุงบูชา รุกขพระไทร พร้อมด้วยสูปพยัญชนะอันประณีต และประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีต่างๆ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรจากรุกขพระไทร รุกขพระไทรมีความกรุณา เหาะไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้กับเศรษฐี
ต่อมา พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรลงไปปฏิสนธิในครรภ์ บิดามารดาจึงขนานนามว่า ธรรมบาลกุมาร แล้วปลูกปราสาทขึ้นให้กุมารอยู่ใต้ต้นไทรริมสระฝั่งแม่น้ำนั้น ครั้นเมื่อกุมารเจริญขึ้นก็รู้ภาษานกและเรียนจบไตรเพทเมื่อมีอายุได้ 8 ขวบ อีกทั้งยังได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่างๆ แก่มนุษย์ชาวชมพูทวีปทั้งปวง ซึ่งขณะนั้น โลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม มีกบิลพรหมองค์หนึ่งได้แสดงมงคลการแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมได้แจ้งเหตุที่ธรรมกุมารเป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นที่นับถือของมนุษย์ชาวโลกทั้งหลาย จึงได้ลงมาถามปัญหาแก่ธรรมกุมาร 3 ข้อ ดังความว่า
เวลาเช้า สิริ คือ ราศีอยู่ที่ไหน
เวลาเที่ยง สิริ คือ ราศีอยู่ที่ไหน
เวลาเย็น สิริ คือ ราศีอยู่ที่ไหน
และท้าวกบิลพรหมได้ให้สัญญาว่า ถ้าท่านแก้ปัญหา 3 ข้อนี้ได้ เราจะตัดศีรษะมาบูชาท่าน ถ้าท่านแก้ไม่ได้ เราจะตัดศีรษะของท่านเสีย ธรรมกุมารรับสัญญา แต่ผลัดแก้ปัญญาไป 7 ท้าวกบิลพรหมก็กลับไปยังพรหมโลก
ฝ่ายธรรมบาลกุมารพิจารณาปัญหานั้นล่วงไปได้ 6 แล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นอุบายที่จะตอบปัญหาได้ จึงคิดว่าพรุ่งนี้แล้วหนอที่เราจะต้องตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม เราหาต้องการไม่ จำจะหนีไปซุกซ่อนตนเสียดีกว่า เมื่อคิดแล้วก็ลงจากปราสาท ออกเที่ยวนอนที่ต้นตาล 2 ต้นซึ่งมีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นตาลนั้น
ขณะที่ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นตาลนั้นพลางได้ยินเสียงนางนกอินทรีถามผัวว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน นกอินทรีตัวผู้จึงตอบว่า พรุ่งนี้ครบ 7 วันที่ท้าวกบิลพรหมถามปัญหาแก่ธรรมบางกุมาร แต่หากธรรมบาลกุมารแก้ไม่ได้ ท้าวกบิลพรหมก็จะตัดศีรษะเสียตามสัญญา เราทั้ง 2 จะได้กินเนื้อมนุษย์ คือ ธรรมบาลกุมารเป็นอาหาร นางนกอินทรีจึงถามว่า ท่านรู้ปัญหาหรือ ผู้ผัวตอบว่ารู้ แล้วก็เล่าให้นางนกอินทรีฟังตั้งแต่ต้นจนปลายว่า
เวลาเช้า ราศีอยู่ที่ หน้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า
เวลาเที่ยง ราศีอยู่ที่ อก คนทั้งหลายจึงเอาน้ำและแป้งกระแจะจันทร์ลูกไล้ที่อก
เวลาเย็น ราศีอยู่ที่ เท้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า
ธรรมบาลกุมารที่นอนอยู่ใต้ต้นไม้ได้ยินการสนทนาของทั้งสองก็จำได้ จึงมีความโสมนัส ปีติ ยินดีเป็นอันมาก จึงเดินทางกลับมาที่ปราสาทของตน ครั้นถึงวาระเป็นคำรบ 7 วันตามสัญญา ท้าวกบิลพรหมก็ลงมาถามปัญหาทั้ง 3 ข้อตามที่นัดหมายกันไว้ ธรรมบาลกุมารก็วิสัชนาแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อตามที่ได้ฟังมาจากนกอินทรีนั้น ท้าวกบิลพรหมยอมรับว่าถูกต้อง และยอมแพ้แก่ธรรมบาล จำต้องตัดศีรษะของตันบูชาตามที่สัญญาไว้ แต่ก่อนที่จะตัดศีรษะ ได้เรียกธิดาทั้ง 7 อันเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์ คือ
1.นางทุงษะเทวี
2.นางรากษเทวี
3.นางโคราคเทวี
4.นางกิริณีเทวี
5.นางมณฑาเทวี
6.นางกิมิทาเทวี
7.นางมโหธรเทวี
ประวัติวันสงกรานต์
อันโลกสมมติว่าเป็นองค์มหาสงกรานต์กับทั้งเทพบรรษัทมาพร้อมกัน จึงได้บอกเรื่องราวให้ทราบและตรัสว่า พระเศียรของเรานี้ ถ้าตั้งไว้บนแผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้ไปทั่วโลกธาตุ ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง เจ้าทั้ง 7 จงเอาพานมารองรับเศียรของบิดาไว้เถิด ครั้นแล้วท้าวกบิลพรหมก็ตัดพระเศียรแค่พระศอส่งให้นางทุงษะเทวีธิดาองค์ใหญ่ในขณะนั้น โลกธาตุก็เกิดโกลาหลอลเวงยิ่งนัก
เมื่อนางทุงษะมหาสงกรานต์นำพานมารองรับพระเศียรของท้าวกบิลพรหม แล้วให้เทพบรรษัทแห่ประทักษิณเวียนรอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที จากนั้นจึงเชิญเข้าประดิษฐานไว้ในมณฑป ณ ถ้ำคันธุลี เขาไกรลาศ กระทำการบูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ ต่อมาพระวิษณุกรรมเทพบุตรได้เนรมิตโลงแก้ว อันประกอบไปด้วยแก้ว 7 ประการ แล้วให้เทพยดาทั้งหลายนำมาซึ่งเถาฉมุนาตลงล้างน้ำในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทั่วทุกๆ พระองค์ ครั้นได้วาระครบกำหนด 365 วัน โลกสมมติว่าปีหนึ่งเป็นวันสงกรานต์ เทพธิดาทั้ง 7 ก็ทรงเทพพาหนะต่างๆ ผลัดเปลี่ยนเวียนมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ พร้อมด้วยเทพบรรษแสนโกฏิประทักษิณเวียบรอบเขาพระสุเมรุราชบรรษัทเป็นเวลา 60 นาที แล้วจึงนำกลับไปประดิษฐานไว้ตามเดิม ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีนางสงกรานต์แต่ละนางมาทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์