มันสำปะหลังเป็นพืชอาหารที่มีปริมาณแป้งสูง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ใน 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย อาหารสำหรับมนุษย์ อาหารเลี้ยงสัตว์ วัตถุดิบในการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานชีวภาพ และภาคอุตสาหกรรม อาทิ แอลกอฮอล์ กรดมะนาว เครื่องนุ่งห่ม ยา กระดาษ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ประเทศไทยปลูกมันสำปะหลังมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่โดยในปี 2565 ส่งออกเป็นหัวมันสด 37 ล้านตัน สร้างมูลค่าประมาณ 150,000 ล้านบาท ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามันสำปะหลังมักมีราคาถูกกว่าพืชอาหารที่ให้แป้งประเภทอื่น อีกทั้งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้ความต้องการมันสำปะหลังในตลาดโลกเติบโตต่อเนื่อง

นางสุนันท์ ผาวันดี ประธานแปลงใหญ่มันสำปะหลัง หมู่ที่ 14 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่มีอาชีพปลูกมันสำปะหลังเป็นหลัก เดิมเคยประสบปัญหาเรื่องโรคและแมลง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และถูกกดราคา ซึ่งเกษตรกรรายเดี่ยวไม่สามารถต่อรองราคาได้ เกษตรกรในพื้นที่ใกล้แหล่งรับซื้อได้รับโอกาสในการซื้อขายน้อยกว่าเกษตรกรรายใหญ่  ในปี 2562 สำนักงานเกษตรอำเภอพนมสารคาม ได้เข้ามาส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม และจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่มันสำปะหลัง หมู่ที่ 14 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันมีสมาชิก 37 ราย มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 790 ไร่ โดยสมาชิกมีการผลิตท่อนพันธุ์ดีเอาไว้ใช้เองหรือแลกเปลี่ยนกันในชุมชนและจำหน่ายมันสำปะหลังหัวสด โดยกลุ่มฯรับซื้อและรวบรวมผลผลิตของสมาชิกไว้ที่ลานรวบรวมผลผลิตของกลุ่มฯ ก่อนจะนำไปจำหน่ายให้กับบริษัทที่ร่วมทำ MOU กลุ่มแปลงใหญ่มันสำปะหลัง หมู่ที่ 14 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้บริการชั่งน้ำหนัก บริการเก็บเกี่ยวผลผลิต ลานตากเครื่องสับมันสำปะหลัง อัตราค่าใช้บริการ 100 บาท ต่อหัวมันสด 1,000 กิโลกรัม

นายเอกรัฐ มาลัยประเสริฐ เกษตรอำเภอพนมสารคาม กล่าวว่า สำหรับแปลงใหญ่มันสำปะหลัง หมู่ที่ 14 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ถือว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรที่พร้อมที่จะพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังให้ได้มาตรฐาน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรจากสำนักงานเกษตรอำเภอพนมสารคามได้เข้ามาความรู้ในด้านการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนแปลงใหญ่ โดยมีแนวทาง 5 ด้าน คือ

1.การลดต้นทุนการผลิต โดยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การผลิตท่อนพันธุ์ดีใช้เอง ใช้แมลงช้างปีกใสกำจัดเพลี้ยแป้งแทนการใช้สารเคมี และการจัดหาปัจจัยการผลิตร่วมกัน การซื้อในปริมาณมากทำให้ราคาต่อหน่วยลดลง ส่งผลให้ลดต้นทุนการผลิต จากเดิม  7,460 บาทต่อไร่ เหลือ 5,968 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 20
2.การเพิ่มผลผลิต โดยการใช้พันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมกับพื้นที่ ระยะปลูกที่เหมาะสม คือ 100 x 100 เซ็นติเมตร ไถระเบิดดินดานเพิ่มพื้นที่ในการขยายของหัวมันสำปะหลัง ไถกลบสิ่งเหลือใช้ในพื้นที่ ปรับปรุงดินตามค่าวิเคราะห์ดินใช้ปุ๋ยเคมีที่เหมาะสม ใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก การปลูกพืชปรับปรุงดิน ใส่ปุ๋ยในช่วงเวลาที่เหมาะสม การใช้ท่อนพันธุ์สะอาดและแช่ท่อนพันธุ์เพื่อป้องกันโรคและแมลง และการใช้เชื้อราไตรโครเดอร์มาเพื่อป้องกันปัญหาโรคหัวเน่า


3.การพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน โดย การใช้ท่อนพันธุ์สะอาดปราศจากโรค การจัดทำแปลงสาธิตเพื่อเป็นจุดเรียนรู้และทดลองผลิตมันสำปะหลังให้ได้คุณภาพ
4.การบริหารจัดการกลุ่ม เช่น การจัดทำแผนการผลิตและแผนการตลาด มีการประชุมหารือสมาชิกอย่างต่อเนื่อง มีการรับสมาชิกที่เป็น YSF มาช่วยในการดำเนินการและจัดทำบัญชีของกลุ่ม
5.การจัดการด้านการจำหน่าย โดยมีการทำ MOU รับซื้อและจำหน่ายผลผลิตของกลุ่มฯให้กับบริษัทรับซื้อหัวมันสำปะหลังสดในพื้นที่ เช่น บริษัท เอส ซี อินดัสทรี จำกัด, บริษัท วรวัฒน์ธัญผล จำกัด และบริษัท ไบโอแมทลิงก์ จำกัด

"การรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ทำให้สมาชิกได้รับโอกาสในการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยีการผลิต การสร้างเครือข่ายการตลาด เป็นโอกาสให้หน่วยงานทั้งราชการและเอกชนเข้ามาสนับสนุนเพื่อพัฒนาต่อยอด รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เมื่อเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงขึ้น ก็จะส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ด้านอื่นๆดีขึ้น เป็นลำดับ" นางสุนันท์ กล่าวทิ้งท้าย