ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2566 วันที่ 24 และ 29 มีนาคม 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ ณ วันที่ 12 เมษายน 2566 กรรมการที่เข้าร่วมประชุม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นางรุ่ง มัลลิกะมาส นายคณิศ แสงสุพรรณ นายรพี สุจริตกุล นายสมชัย จิตสุชน นายสุภัค ศิวะรักษ์

ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงิน

เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ในปี 2566 และร้อยละ 2.9 ในปี 2567โดยประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มดีขึ้นจากแรงส่งของภาคบริการ ด้านเศรษฐกิจจีนขยายตัวดีหลังยกเลิกมาตรการควบคุมโรค ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ รวมทั้ง ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทยอยปรับดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศเอเชียที่การส่งออกสินค้าในช่วงที่ผ่านมาปรับแย่ลง คาดว่าจะฟื้นตัวในระยะข้างหน้าจากการเปิดประเทศของจีนและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นจากสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งมีนัยต่อ การดำเนินนโยบายการเงินและเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูง ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรปที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ขณะที่เสถียรภาพระบบการเงินมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัญหาสถาบันการเงิน โดยความกังวลต่อปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปในเดือนมีนาคมส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศส่วนใหญ่ปรับลดลง ขณะที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลง และมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ ปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลต่อระบบการเงินไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถาบันการเงินและภาคธุรกิจไทยมีความเชื่อมโยงจำกัดกับสถาบันการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงที่มีปัญหา รวมทั้งสถาบันการเงินไทยมีความมั่นคง สะท้อนจากระดับเงินกองทุนที่เข็มแข็ง แต่ต้องติดตามพัฒนาการและผลกระทบต่อระบบการเงินรวมถึงเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

ภาวะการเงินไทยโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับลดลงเล็กน้อยตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยภาวะการเงินไทยตึงตัวขึ้นบ้างตามต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชน ที่ปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนของภาคเอกชนในตลาดตราสารหนี้ ยังขยายตัว ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวน ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีความไม่แน่นอน และตลาดการเงินโลกที่ผันผวนขึ้นจากปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก

ภาวะเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้แรงงานและการบริโภคภาคเอกชน โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ในปี 2566 และ ร้อยละ 3.8 ในปี 2567 จาก (1) ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบทุกสัญชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จะอยู่ที่ 29 ล้านคน และปี 2567 จะอยู่ที่ 35 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากที่คาดในการประชุมเดือนมกราคม 2566 ที่ 25.5 และ 34 ล้านคน ตามลำดับ (2) การจ้างงานและรายได้แรงงานปรับดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้ของลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เพิ่มขึ้นตาม การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน และ (3) การส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในบางหมวด มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าสินค้าหมวดอื่น เช่น สินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่อุปสงค์สินค้าหมวดดังกล่าวอยู่ใน วัฏจักรขาลง และสินค้าหมวดปิโตรเคมีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของจีนที่ต้องการเพิ่มอุปสงค์ในประเทศและลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ (dual circulation strategy)

โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทย มีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้จากจำนวนและค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมามากและ เร็วกว่าคาด แต่ต้องติดตามความเสี่ยงด้านต่ำจากเศรษฐกิจการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงและเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2566 ซึ่งจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในปี 2566 และ ร้อยละ 2.4 ในปี 2567 โดยแรงกดดันด้านอุปทานจะทยอยลดลงตามแนวโน้มค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังมีแนวโน้มทรงตัว ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง โดยจะอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ในปี 2566 ก่อนจะทยอยปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในปี 2567 สอดคล้องกับเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อที่เริ่มปรับลดลง แต่เครื่องชี้ส่วนใหญ่ยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จาก (1) การส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่องและอาจมีต้นทุนบางส่วนที่ยังไม่ได้ส่งผ่านในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับ (2) แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อ อย่างใกล้ชิด

ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย

1.คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจการเงินโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยปัญหาสถาบันการเงิน ในประเทศเศรษฐกิจหลักส่งผลให้ภาวะการเงินตึงตัวขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงเกิน กรอบเป้าหมาย จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป แม้ความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวจะปรับดีขึ้นจากมาตรการของรัฐบาลและธนาคารกลาง รวมทั้งผลกระทบต่อระบบการเงินและภาคเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมายังมีจำกัด แต่สถานการณ์ในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการและผลกระทบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างใกล้ชิด

2.คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสขยายตัวสูงกว่าคาด จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมามากกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของรายได้แรงงาน และส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการส่งออกสินค้าอาจฟื้นตัวดีกว่าคาดเช่นกัน โดยเฉพาะหากปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักไม่ลุกลามและส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกจำกัด อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามเศรษฐกิจโลก ที่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น

3.คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูง จากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจยังมีอยู่ ในระยะต่อไป เนื่องจากผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนสูงต่อเนื่องและอาจมีต้นทุนบางส่วนที่ยังไม่ได้ส่งผ่านในช่วงก่อนหน้า รวมถึงต้นทุนบางประเภทยังอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะราคาพลังงานในประเทศ ที่ปรับลดลงช้าจากการทยอยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน อีกทั้งผู้ประกอบการอาจปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพิ่มเติมหากเห็นว่าภาคครัวเรือนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อไทยใน 2-3 ปีข้างหน้ามีความเสี่ยงที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงนานกว่าในอดีต เช่นเดียวกับแนวโน้มเงินเฟ้อโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี (technology transformation) การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) และการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อม (green transition) จึงเห็นควรให้ติดตามพฤติกรรมการปรับราคาของผู้ประกอบการ และแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งติดตามพลวัตเงินเฟ้อที่อาจเปลี่ยนไปจากอดีตซึ่งอาจส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลาง

4.คณะกรรมการฯ ยังมีความกังวลต่อฐานะการเงินของกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยที่แม้รายได้ฟื้นตัวแล้ว แต่รายได้ของบางกลุ่มยังไม่กลับไปสู่ระดับช่วงก่อนการระบาด และไม่เพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่ามาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งควรผลักดัน ให้ครอบคลุมกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างตรงจุดและยั่งยืน

5.คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังควรดำเนินการต่อเพื่อลดความเสี่ยง ที่เงินเฟ้อจะอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายนานต่อเนื่อง โดยแม้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นหากเศรษฐกิจ ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ซึ่งเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงนานต่อเนื่องอาจกระทบต่อพฤติกรรมการตั้งราคาและ การคาดการณ์เงินเฟ้อ

ทั้งนี้ เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป (gradual and measured policy normalization) ยังเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ อภิปรายเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ต่ำเกินไปว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ และเป็นการสะสมความเสี่ยง ด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว นโยบายการเงินในระยะต่อไปจึงควรคำนึงถึงระดับอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่เหมาะสมด้วย

การดำเนินนโยบายการเงิน

คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็น ร้อยละ 1.75 ต่อปีคณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า และคาดว่า จะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้ แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูง จากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้งมีแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินโลก รวมถึงปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินไทยและเศรษฐกิจไทย สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และภาคครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังเปราะบาง คณะกรรมการฯ เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบางภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้