ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.22 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.58% หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจนและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) มากขึ้น จากรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ล่าสุด ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 9.93 ล้านตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้มาก นอกจากนี้ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงาน (Factory Order) ก็ลดลงต่อเนื่อง -0.7%m/m แย่กว่าคาด ทั้งนี้ ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก่อนที่จะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงอีกครั้งสู่ระดับ 3.35%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเล็กน้อย -0.08% กดดันโดยแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มพลังงาน (Equinor -2.1%, Shell -1.9%) หลังราคาน้ำมันดิบมีจังหวะย่อตัวลงมาบ้าง ตามความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes +1.8%, LVMH +0.8%) ซึ่งยังคงได้รับอานิสงส์จากแนวโน้ม (และความคาดหวัง) การฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 101.5 จุด (ใกล้จุดต่ำสุดของปีนี้ แถว 100.8 จุด ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์) หลังผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ลง ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดในสัปดาห์นี้ ล้วนออกมาแย่กว่าคาด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยที่สูงขึ้น รวมถึงการปรับตัวลดลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯและเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และทรงตัวแถวระดับ 2,039 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งเราคาดว่าการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนมีนาคม โดยตลาดมองว่า ภาคการบริการจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ชี้จากดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ที่อาจอยู่ที่ระดับ 54.5 จุด (ดัชนีมากกว่า 0 หมายถึง ภาวะขยายตัว) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งอาจใช้เป็นตัวชี้วัดถึงแนวโน้มข้อมูลยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์ นี้ได้ ทั้งนี้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาคาดหวังว่า เฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ หลังจากที่ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังคงมุมมองเดิมว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายแถว 5.00% ก่อนที่จะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี หลังรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 5.00% เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถชะลอลงกลับสู่เป้าหมายได้ และในฝั่งไทย จากภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้น หนุนโดยการบริโภคภาคเอกชน ทำให้เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เดือนมีนาคม อาจทรงตัวที่ระดับ 1.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI อาจชะลอลงสู่ระดับ 3.20% (+0.10%m/m) ตามการปรับตัวลงของราคาสินค้าพลังงานและระดับฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อจะชะลอลง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงอยู่ ทำให้เรามองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก +0.25% สู่ระดับ 2.00% ได้ในการประชุมครั้งถัดไป (เดือนพฤษภาคม)

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นแรง ตามการปรับตัวลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (ทะลุโซนแนวต้านแถว 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้สำเร็จ)

เราประเมินว่า ในระหว่างวันนี้ การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น อาจเริ่มชะลอลงได้บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจมีการขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB บ้าง นอกจากนี้ ในฝั่งผู้ประกอบการ อย่าง ผู้นำเข้าก็อาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าลงมาแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ในการเข้าซื้อเงินดอลลาร์บ้างได้เช่นกัน และควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะฟันด์โฟลว์ในฝั่งหุ้น ว่านักลงทุนต่างชาติจะเดินหน้าขายหุ้นไทยเพิ่มเติมจากวันก่อนหน้าหรือไม่ (ส่วนหนึ่งอาจขายทำกำไรเพิ่มเติม หลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ) เพราะหากนักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทย ตามที่เราเคยคาดการณ์ไว้ เงินบาทก็อาจขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าไปบ้าง

ทั้งนี้ แม้นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทย แต่เงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 33.85-34.10 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ รวมถึง ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เพราะหาก รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใส เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสรีบาวด์แข็งค่าขึ้นมาได้ไม่ยาก แต่หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในวันนี้ยังคงออกมาแย่กว่าคาด เช่นเดียวกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจก่อนหน้า เงินดอลลาร์ก็อาจปรับตัวอ่อนค่าลงต่อ ทดสอบจุดต่ำสุดของปีนี้ได้เช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้นั้น เราคาดว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ (ราคาทองคำอาจปรับตัวสูงขึ้นใกล้ 2,050-2,060 ดอลลาร์ต่อออนซ์)

ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.10 บาท/ดอลลาร์