เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2566 สมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 ภายใต้ชื่องาน "Bangkok Truck Show" ณ โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล  จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมี นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย  เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และสมาคมขนส่ง 10 สมาคมจากทั่วประเทศเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

ดร.สุนทร ผจญ  นายกสมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก  กล่าวว่า "สมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมผู้ประกอบการขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภค ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนการขนส่งสินค้าผ่านแดน ได้จัดงานประชุมครั้งนี้ขึ้นมาเพื่อแถลงผลการดำเนินงานของสมาคม รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อก้าวทันความเปลี่ยนแปลงด้านการขนส่ง และนำเสนอปัญหาอุปสรรคในการทำงานระหว่างสมาชิก และสมาคมขนส่งทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนาอาชีพขนส่งให้ยั่งยืนต่อไป" 

สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการจัดโชว์นวัตกรรมยานยนต์ รถบรรทุก 4 ล้อ/ 6 ล้อ และ10 ล้อ ชื่อดังหลายค่าย ทั้งรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันและรถไฟฟ้า เช่น ISUZU HINO SANY (Leadway) NEX (Auto Infinity) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงสินค้า ประเภทอะไหล่รถบรรทุก  การประกันภัย และเทคโนโลยีขนส่งต่าง ๆ กรมการขนส่งทางบกได้ร่วมจัดบูธให้ความรู้เรื่องมาตรฐาน และคุณภาพบริการขนส่งด้วยรถบรรทุก (Q-mark) รวมถึงนโยบาย TSM (transport safety manager) เพื่อการขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิงแวดล้อมอีกด้วย.   มีผู้ร่วมงานครั้งนี้เป็นจำนวนมาก การจัดงานครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์จำกัด 

ที่สำคัญภายในงานยังมีการจัดเสวนาหัวข้อ “นโยบายการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก” โดยมี นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข  ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากรให้ความรู้ พร้อมด้วยสมาชิกสมาคมร่วมอภิปรายการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในท่าเรือแหลมฉบังอีกด้วย

ดร.สุนทร ผจญ กล่าวสรุปใจความสำคัญของการเสวนาในครั้งนี้ว่า "เนื่องจากปริมาณการส่งออกผ่านท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันทะลุถึง 10 ล้าน ที.อี.ยู และเกิดปัญหาการจราจรติดขัดต่อเนื่องมาหลายปี โดยการรับส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าในท่าเรือแหลมฉบัง ใช้เวลานานเฉลี่ย 4-6 ชั่วโมง และในบางช่วงเวลา 8-10 ชั่วโมงต่อ 1 ตู้/ที.อี.ยู ซึ่งส่งผลให้เกิดต้นทุนขนส่งที่ต้องสูญเสียไปนับเป็นหมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนั้นยังทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพพนักงานขับรถ เป็นความเดือดร้อนของผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก"

"การท่าเรือแห่งประเทศไทย โดย อทร. จะได้นำข้อเสนอแนะที่ได้จากการเสวนาไปเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป เช่น การใช้ระบบ Truck Queuing, E-Payment การจัดพื้นที่รถจอดรอคอยที่เป็นระบบ การขอความร่วมมือจากท่าเรือเอกชนที่ได้รับสัมปทานเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการรับส่งตู้สินค้า โดยตั้งเป้าหมาย KPI ระยะเวลารับส่งตู้สินค้าภายใน 2 ชั่วโมง การบริหารการเดินเรือไม่ให้ล่าช้าจากตารางเวลาที่กำหนด (berth window)ซึ่งจะทำให้ตู้สินค้าตกค้างในท่าเรือเป็นจำนวนมากเกิดความแออัด  การแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวเกี่ยวเนื่องกับหลายองค์กร เป็นความท้าทายของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่จะต้องดำเนินการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมควบคู่กับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือชั้นนำระดับโลก" ดร.สุนทร ผจญ กล่าว

ดร.สุนทร ผจญ กล่าวต่ออีกว่า "ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับประสิทธิภาพการรับส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง. โดยให้มีการหมุนเวียนรถบรรทุกรับส่งตู้สินค้าที่ใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด (truck turnaround time) ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้แบบบูรณาการ ตลอดซัพพลายเชนการรับ-ส่งตู้คอนเทนเนอร์ในเขตท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพด้านเวลาและต้นทุน อันนำไปสู้เป้าหมายในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศและสร้างศักยภาพในการแข่งขันต่อไป"

การจัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ผู้ร่วมงานให้ความสนใจกับนวัตกรรมยานยนต์ในครั้งนี้อย่างมาก อันจะนำไปสู่การพัฒนาอาชีพการขนส่งสินค้าอย่างยั่งยืนต่อไป.