สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…

ท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยความเข้มข้น หลายพรรคยังคงสาดนโยบายมหาประชานิยมออกมาเกทับบลัฟแหลก แย่งชิงซื้อใจประชาชน จนมีการออกมาตั้งข้อสังเกตว่านี่ใช่เป็นเพียงการขายฝันหรือไม่ หรือหากมีการนำนโยบายเหล่านั้นมาปฏิบัติจริงในรัฐบาลหน้า อะไรจะเกิดขึ้น ประเทศไทยต้องสุ่มเสี่ยงกับการเดินซ้ำรอยเวเนซุเอลา หรือศรีลังกา ที่ต้องเผชิญปัญหามากมาย แทบต้องล่มสลาย เพราะพิษนโยบายประชานิยมประเภท “ยาพิษเคลือบน้ำตาล”หรือไม่ …*…

 แม้ปัจจุบัน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดในมาตรา 57 ให้พรรคการเมืองที่ประกาศโฆษณานโยบายที่ต้องใช้เงิน จะต้องนำเสนอข้อมูล 3 รายการคือ วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของวงเงิน ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ทว่า มีมุมมองจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ว่า  กฎหมายนี้กำหนดบทลงโทษไว้เบามาก โดยในกรณีที่พรรคการเมืองไม่จัดทำข้อมูลดังกล่าว กกต. มีเพียงอำนาจสั่งให้จัดทำให้ถูกต้องเท่านั้น และหากพรรคการเมืองยังฝ่าฝืนก็จะเสียค่าปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และอีก 1 หมื่นบาทต่อวันจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง  นอกจากนี้ ยังไม่เคยปรากฏว่า กกต. ได้เคยจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายของพรรคการเมืองเปิดเผยต่อสาธารณะแต่อย่างใด จนทำให้เกิดคำถามต่อขีดความสามารถของ กกต. ในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว …*…

พร้อมกันนี้ทีมวิจัยของทีดีอาร์ไอยังมีข้อห่วงใยหลายประการต่อนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ถึงจะมีจุดประสงค์ดี มุ่งแก้ไขความเดือดร้อน และปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางก็ตาม แต่ก็ยังมีหลายนโยบายที่น่าจะสร้างปัญหาให้แก่ประเทศในระยะยาว ด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาระทางการคลังจากการใช้งบประมาณมากเกินตัว หรือมีแนวโน้มว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณผ่านรัฐวิสาหกิจต่างๆ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทำให้การใช้เงินดังกล่าวไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณและทำให้รัฐสภาในฐานะผู้แทนของประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ …*…  

“มีอย่างน้อย 2 พรรคการเมืองที่น่าจะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี เพื่อดำเนินนโยบายที่ประกาศไว้ และหากรวมต้นทุนด้านการคลังของนโยบายของอีก 9 พรรคการเมือง โดยไม่นับนโยบายที่ซ้ำกัน ก็จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นทั้งหมด 3.14 ล้านล้านบาทต่อปี  หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากงบประมาณรายจ่ายสำหรับปี 2566” ทีมวิจัยทีดีอาร์ไอระบุ...*...

และทีดีอาร์ไอยังได้ตั้งข้อสังเกตชวนให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้คิดต่ออีกว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่ประกาศนโยบายต่างๆ ออกมายังไม่ได้อธิบายว่าจะหางบประมาณมาจากแหล่งใด เช่น จะมีการเก็บภาษีใดเพิ่มขึ้นหรือจะตัดลดงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบันในด้านใดลง หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่ง พรรคการเมืองต่างๆ ได้ประกาศนโยบายเพื่อหาเสียงกับประชาชนโดยเสนอให้สวัสดิการและความช่วยเหลือต่างๆ เสมือนนโยบายดังกล่าวไม่มีต้นทุนทางการคลังใดๆ เลย อีกทั้งนโยบายจำนวนมากที่ประกาศออกมาส่วนใหญ่เน้นแก้ไขปัญหาหรือตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าของประชาชน  และอาจไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เนื่องจากจะต้องแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก โดยยังไม่ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายดังกล่าวได้ศึกษาอย่างเป็นระบบถึงแนวทางในการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ตลอดจนต้นทุนและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเลย …*…

และ “เจ้าพระยา” ขอสรุปสุดท้ายด้วยคำเตือนจากทีดีอาร์ไอ ที่ว่า หากพรรคการเมืองยังแข่งขันกันหาเสียงเพื่อหวังเอาชนะกันเช่นนี้ ก็จะทำให้เกิดสภาพ “ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก”  คือ หากรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ที่น่าจะเป็นรัฐบาลผสม นำเอานโยบายของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลมาประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อปฏิบัติแล้ว ประเทศไทยก็น่าจะประสบปัญหาทางการคลังอย่างมากจนอาจเกิดวิกฤติ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในลาตินอเมริกา เนื่องจากจะเพิ่มหนี้สาธารณะของไทยที่อยู่ในระดับร้อยละ 61 ของ GDP ในปัจจุบันให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือแม้จะไม่เกิดวิกฤติทางการคลัง ก็อาจทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย ดังที่หน่วยงานจัดอันดับเครดิต (credit rating agency) ต่างๆ เริ่มแสดงความวิตกกังวลกัน และอาจก่อให้เกิดปัญหาที่มีความอ่อนไหวตามมา ดังตัวอย่างของอังกฤษ ซึ่งประสบปัญหาความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเมื่อปีที่แล้วจนนายกรัฐมนตรีต้องลาออก หลังตลาดการเงินเห็นว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังอย่างไม่รับผิดชอบ ...*...

ที่มา:เจ้าพระยา (30/3/66)