จาก Talk of the Town กลายเป็น Talk of the World ไปแล้ว วันนี้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และหมอกควันของไทย ถูกยกระดับให้โลกรับรู้แล้ว เมื่อสื่อต่างประเทศเผยแพร่ข้อมูลปัญหาดังกล่าวเตือนประชาชนของเขาที่วางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวในไทย เพื่อชมธรรมชาติและวัฒนธรรมโดยเฉพาะทางภาคเหนืออย่าง แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ทั้งไทยยังเป็นหนึ่งใน Hot Spot ในภูมิภาคที่ติดอันดับในแผนที่โลกขณะนี้ จึงควรยกปัญหานี้ขึ้นเป็น “วาระแห่งชาติ” ของรัฐบาลชุดใหม่ได้พิสูจน์ความสามารถในการแก้ปัญหาระดับชาติเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน
ทุกๆ ปี ตั้งแต่เดือนธันวาคมต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายนหลังสงกรานต์ ประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 และหมอกควัน เป็นประจำ ความจริงที่ทุกคนต้องรับรู้และเป็นข้อมูลสำคัญในห่วงโซ่มลพิษสิ่งแวดล้อมฝุ่น หมอก ควัน มาจากทั้งภายในครัวเรือน การหุงหาอาหารและการใช้พลังงานต่างๆ และภายนอกครัวเรือนซึ่งต้นทางของปัญหา คือ การใช้พลังงานและการปล่อยของเสียจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง ภาคการเกษตร และการกำจัดของเสีย รวมถึงฝุ่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อทราบพื้นฐานที่มาแบบนี้แล้วจะทำให้การคิดเพื่อหาหนทางแก้ไขได้ตรงเป้าหมายและเป็นระบบมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม วันนี้ปัญหาดังกล่าวในไทย ถูกพุ่งเป้าไปที่ภาคการเกษตรจาก “การเผา” ทั้งเผาตอซังพืช เช่น ข้าว เพื่อเตรียมการเพาะปลูกรอบใหม่ การเผาอ้อยเพื่อลดต้นทุนค่าแรงงานเก็บเกี่ยว การเผาป่า เพื่อล่าสัตว์หรือหาของป่ามาเป็นอาหารและสร้างรายได้ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน หรือแม้แต่ไฟไหม้ป่าตามธรรมชาติและเป็นฤดูกาล เหล่านี้เป็นเหตุผลที่นำอ้างว่าเป็นต้นเหตุของมลพิษฝุ่นควันขณะนี้ และผลักภาระให้กับบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับผลผลิตข้างต้น หากใครคนใดคนหนึ่งต้องตกเป็นจำเลย ก็ต้องตั้งคำถามว่าเหตุใดวิธีการที่ผิดๆ ยังเกิดขึ้นซ้ำๆ ผู้กำกับดูแลเรื่องคือใครและได้ตรวจตราอย่างเคร่งครัดแล้วหรือยัง? โดยเฉพาะวัฒนธรรมการเผาตามวิถีชีวิตและไฟป่า ภาครัฐจะควบคุมอย่างไร เครื่องมือหรือนวัตกรรมมีเพียงพอหรือไม่?
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอ้อยและข้าวรายใหญ่ ซึ่งในทุกฤดูการเก็บเกี่ยวจะมีการเผาตอซังเพื่อปรับพื้นที่ และยังคงเป็นวัฒนธรรมของเกษตรกรแม้จะมีการห้ามจากภาครัฐก็ตาม แต่เกษตรกรไม่มีทางเลือก โดยเฉพาะการเผาใบอ้อยจะช่วยให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น และฝุ่นควันยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อต้องขนย้ายผลผลิตจากไร่ไปสู่โรงงานเพื่อส่งมอบผลผลิตให้ตรงเวลา ทำให้จุด Hot Spot มีอยู่ทั่วประเทศไทย
ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซาก แต่ไม่มีรัฐบาลไหนที่มีแผนบริหารจัดการประเทศที่ให้ความสำคัญกับการบูรณาการแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและเป็นระบบ หากแต่เป็นการ “ลูบหน้าปะจมูก” เกิดทีทำทีมาตลอด เช่นเดียวกับปีนี้ที่ไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม และเป็นช่วงที่มีลงพื้นที่หาเสียงสู้ศึกเลือกตั้งกันเต็มพิกัด แต่จะมีกี่พรรคการเมืองที่ชูการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นนโยบายสำคัญในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของของคนไทย ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในอนาคต...เพื่อชีวิตที่ดีกว่า
จากการระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เวทีหนึ่ง รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ควรนำแนวทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัยและนวัตกรรม เทคนิคทางวิชาการมาใช้ประยุกต์ใช้ ร่วมกับบุคลากรที่มีองค์ความรู้มาร่วมแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งเรื่องฝุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา จะต้องมีหน่วยงานติดตามปัญหาที่เกิดในแต่ละพื้นที่ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลการเกิดปัญหาในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละพื้นที่ เพื่อความเข้าใจปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น แล้วมาวิเคราะห์สู่การกำหนดเป้าหมายและการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
ส่องนโยบายพรรคการเมืองในการแก้ปัญหาฝุ่นและหมอกควัน มีเพียงพรรคเดียวที่มีนโยบายลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ซึ่งนับว่าเห็นปัญหา ส่วนพรรคอื่นๆ มีนโยบายฯ แต่เน้นแก้ปัญหาลดการขนส่ง การก่อสร้างสาธารณูปโภคและเพิ่มพื้นที่สีเขียว จึงจำเป็นต้องฝากรัฐบาลชุดใหม่ให้บรรจุการแก้ปัญหา “ฝุ่นควัน” เป็นวาระเร่งด่วนและบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนกำหนดเป็นแผนระยะยาว เพื่อเปลี่ยนจุดสีแดงในภาพถ่ายดาวเทียมให้เป็นสีเขียวอย่างยั่งยืน
โดย : พฤกษ์ รุกขพสุธา นักวิชาการอิสระ