ไฟป่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังคงติดทอปยอดไฟป่าสูงที่สุดของประเทศ ขณะที่ ผวจ.เรียกประชุมด่วน ยันต้องหาแนวทางทุกวิธีในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน สั่งด่วนให้ทุกหน่วยงาน ดำเนินการเปิดห้องปลอดฝุ่น (clean room) ในสถานที่ราชการทุกแห่ง เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่
วันที่ 29 มีนาคม 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 28 มีนาคม 2566 ไทยพบจุดความร้อน 4,433 จุด โดยมีเพื่อนบ้านอย่างพม่าขึ้นนำอยู่ที่ 4,894 จุด, สปป.ลาว 4,548 บาท, กัมพูชา 701 จุด, เวียดนาม 190 จุด และ มาเลเซีย 36 จุด
สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นป่าอนุรักษ์ 2,361 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,544 จุด, พื้นที่เกษตร 222 จุด, พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 180 จุด , พื้นที่เขต สปก. 121 จุด, และพื้นที่ริมทางหลวง 5 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ แม่ฮ่องสอน 588 จุด น่าน 569 จุด และ เชียงใหม่ 488 จุด
เช้าวันนี้ 29 มีนาคม 2566 ที่ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน และประชาสัมพันธ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อร่วมหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หมอกควันไฟป่า ที่ส่งให้เกิดค่าปริมาณฝุ่นละอองในอากาศวันนี้ ( เวลา 11.00 น.) วัดได้ถึง 254 มคก./ลบ.ม พร้อมกำชับให้ดำเนินการอย่างเข้มข้นตามที่มาตรการจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้กำหนด
ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ย้ำว่า จะต้องหาแนวทางทุกวิธีในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันจำนวนจุดฮอตสปอต เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในทุกภูมิภาครวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน และมีอีกหลาบปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งสภาพภูมิอากาศที่มีความกดอากาศสูงในช่วงเช้าทำให้ปริมาณฝุ่นละอองปกคลุมในพื้นที่
เบื้องต้นได้สั่งการให้หัวหน้าส่วนราชการทุกแห่ง นายอำเภอ ทั้ง 7 อำเภอ นายกเทศมนตรีเมือง นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และผู้ป่วยติดเตียงที่จะประสบปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งปัจจุบันต้องยอมนับว่า คุณภาพอากาศ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก Pm 2.5 ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน สูงขึ้นอยู่ในระดับสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) โดยเบื้องต้นเร่งด่วนขอให้ทุกหน่วยงาน ดำเนินการเปิดห้องปลอดฝุ่น (clean room) ในสถานที่ราชการทุกแห่ง เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ โดยปรับใช้ห้องประชุมหรือห้องที่มีเครื่องปรับอากาศเปิดให้บริการประชาชน และแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมารับบริการห้องปลอดฝุ่นของส่วนราชการที่ได้จัดไว้แล้ว
สำหรับในช่วงสถานการณ์หมอกควันไฟป่าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในช่วงนี้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ของดกิจกรรมการแจ้ง การจัดรถน้ำเพื่อออกพ่นละออง สร้างความชุ่มชื่นในอากาศวันละ 4-5 รอบ