จากวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในอากาศมีปริมาณเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลให้เกิดสภาวะมลพิษทางอากาศในประเทศไทย โดยปริมาณการสะสมของฝุ่นในอากาศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และไม่เพียงแต่ประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าว แต่ฝุ่น PM 2.5 ได้กลายเป็นปัญหาในหลายเมืองใหญ่ของโลก ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนมาตรฐานคุณภาพระดับสากล ตระหนักถึงความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน รณรงค์ให้ทุกคนหันมาใส่ใจร่างกายและป้องกันตัวเองก่อนเกิดโรค พร้อมดูแลคนที่ไม่ป่วย ไม่ให้ป่วย ได้หยิบยกเรื่องราวภัยร้ายของผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่ไม่เพียงแต่จะแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด และส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเท่านั้น แต่ยังสามารถทำร้ายหัวใจถึงขั้นป่วยหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) และหัวใจวาย (Heart Attack) ได้ ฉะนั้นการหลีกเลี่ยงฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักและระมัดระวัง เพื่อดูแลสุขภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือดให้แข็งแรงไปอีกนาน
นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เปิดเผยว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 นับเป็นสารอนุมูลอิสระ (Free Radical) เช่นเดียวกับบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าที่สามารถก่อให้เกิดโรคเรื้อรังได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือโรคทางปอด ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณที่ได้รับอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยฝุ่น PM 2.5 จะเข้าไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด จนเกิดเป็นลิ่มเลือด หากได้รับในปริมาณสูง ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน
โดยผลกระทบจาก PM 2.5 นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 อาการ ได้แก่ อาการหลอดเลือดเสื่อมสภาพ หนาตัวขึ้น และอาการกล้ามเนื้อหดตัวแข็งขึ้น ยืดหยุ่นน้อยลง ส่งผลต่อเกร็ดเลือดทำให้เกิดการสลายลิ่มเลือดยากขึ้น และเกร็ดเลือดเกาะกลุ่มได้ง่ายขึ้น เมื่อปัจจัยทั้งสองเกิดขึ้นก็จะมีโอกาสทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบตันได้
นพ.ชาติทนง กล่าวต่ออีกว่า ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นั้นไม่เกี่ยวกับอายุ แต่เกี่ยวข้องกับปริมาณที่ร่างกายได้รับ จนเกิดการสะสมขึ้นในร่างกาย ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด เบาหวาน และ ความดัน ก็ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่น เนื่องจากมีความอ่อนไหวสูง อีกทั้งขณะนี้แพทย์ทั่วโลกกำลังเตือนภัย และยกระดับความเสี่ยงของ PM 2.5 ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ เทียบเท่ากับบุหรี่ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือกระตุ้นโรคประจำตัวได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม คนที่สุขภาพดีก็ต้องดูแลป้องกันตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะหากสูดฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในปริมาณสูงก็จะส่งผลต่อหลอดเลือดได้ ล่าสุด หน่วยงานด้านเวชศาสตร์การกีฬาได้ออกมาเตือนภัยแล้วว่า ถึงแม้จะเป็นนักกีฬาที่ร่างกายแข็งแรง หากได้รับฝุ่น PM 2.5 เกิน 50 ไมโครกรัมขึ้นไป ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ ดังนั้น ทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัยขณะออกกำลังกาย หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สัญญาณเตือนแบบพิษฉับพลันของ PM 2.5 ได้แก่ อาการวิงเวียนศรีษะ หน้ามืด คลื่นไส้ เลือดกำเดาออก ขณะที่การก่อโรคเรื้อรังอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ จะเป็นลักษณะของการสะสมโรค จึงมักจะไม่แสดงอาการในระยะแรก การตรวจสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะสุขภาพของหัวใจ
ทั้งนี้ปัจจุบันมีหลากหลายเทคโนโลยีที่แม่นยำ อาทิ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจโดยการวิ่งบนสายพาน (Exercise Stress Test) การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiogram) หรือการตรวจวัดระดับแคลเซียมบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ (CT Coronary Calcium Score) การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม การทำงานของไต ระดับไขมันคอเลสเตอรอล ระดับไขมันความหนาแน่นสูง-ต่ำ และระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ทำให้เราทราบถึงความเสี่ยง และแนวโน้มที่อาจจะทำให้เกิดโรคหัวใจในอนาคตและควรตรวจเช็กหัวใจกับแพทย์เป็นประจำทุกปี