สมาพันธ์เชฟประเทศไทย เปิดตัวองค์กรเพื่อการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านอาหาร เพื่อสร้างเชฟให้มีมาตรฐานและก้าวสู่การพัฒนาสภาองค์กรวิชาชีพด้านอาหารให้ทัดเทียมนานาชาติ พร้อมสนับสนุนนโยบาย Soft Power ในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดันอัตลักษณ์อาหารไทยเพิ่มรายได้ให้ประเทศชาติ
(วันที่ 25 มี.ค. 2566) สมาพันธ์เชฟประเทศไทย (สพชท.) หรือ The Federation of Thai Chefs (TFTC) เปิดตัวสมาพันธ์เชฟฯ โดยมีสมาชิกร่วมก่อตั้งกว่า 200 เชฟ และเชฟไทยที่มีชื่อเสียงในวงการอาหาร อาทิ เชฟสุรสิทธิ์ เสมา เลขาธิการสมาคมเชฟภูเก็ต , เชฟบุญยืน พูลลาภ นายกสมาคมเชฟชะอำ-หัวหิน , เชฟธีระวีย์ ดิษยชัยพงษ์ หรือเชฟจากัวร์ , เชฟสมเจตต์ เขื่อนคำ คณะกรรมมูลนิธิจิตอาสามิคาเคิลออ๊อฟไลน์ , เชฟเจนภัทธ์ แสงชูโต รองประธานสมาพันธ์เชฟประเทศไทย , เชฟลำดวน ฉายกระโทก รองประธานสมาพันธ์เชฟประเทศไทย , เชฟวัชรพงษ์ เมฆผึ้ง เชฟการบินไทย เลขาธิการสมาพันธ์เชฟประเทศไทย , เชฟพงษ์ศักดิ์ กุลเมือง นายกสมาคมเชฟสุราษฎร์ธานี , เชฟอนุชิต แสงอ่อน เชฟประจำสถาบันปัญญาภิวัฒน์ และเชฟประเสริฐ พงษ์ภู่ ที่ปรึกษาประธานสมาพันธ์เชฟประเทศไทย
เชฟเสาวกิจ ปรีเปรม ประธานสมาพันธ์เชฟประเทศไทย (สพชท.) เปิดเผยว่า อาชีพเชฟหรือหัวหน้าปรุงอาหาร เป็นอาชีพโบราณมีนานกว่าพันปี มีพัฒนาการแต่ละยุคแต่ละสมัย อาชีพเชฟประเทศไทยแม้จะมีสถาบันการศึกษาภาครัฐและเอกชนของไทยและต่างประเทศผลิตบุคลากรมาเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีสภาองค์กรวิชาชีพเชฟไทยเป็นที่ประจักษ์ ทำให้กลุ่มสมาชิกเชฟทั่วประเทศมีแนวคิดเกิดการรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสมาพันธ์เชฟประเทศไทย พร้อมชูนโยบาย “สร้างมาตรฐานเชฟไทย สู่การพัฒนาสภาองค์กรวิชาชีพเชฟ” เพื่อผลักดันให้มีระบบคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อรับรองอาชีพเชฟไทย ซึ่งเป็นอาชีพที่เก่าแก่ทัดเทียมอาชีพวิศกร , กฎหมาย , บัญชี และสื่อสารมวลชนให้เป็นที่ยอมรับและเป็นเครื่องมือกับบุคลากรสายงานผู้ปรุงอาหารเพื่อการแข่งขันระดับประเทศและนานาชาติ
นอกจากนี้ ประธานสมาพันธ์เชฟประเทศไทยกล่าวต่อว่า อาหารเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิด Soft Power สู่การเผยแพร่ทางวัฒนธรรมที่รัฐบาลผลักดันสู่การส่งออกทางวัฒนธรรมไทยเพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าให้สินค้าและบริการ อาหารจึงเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมอันทรงพลังที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย ในปัจจุบันการจัดอันดับอาหารประเทศสตูว์ที่มีรสชาติที่ดีที่สุดในโลกของเว็บไซต์ Taste Atlas พบว่า แกงพะแนง ครองแชมป์อันดัน 1 , แกงเขียวหวาน อันดัน 8 , แกงมัสมั่น อันดับ 9 , แกงกะหรี่ อันดับ 32 , แกงเผ็ด อับดับ 34 และขนมจีนน้ำยา อันดับ 90 จะเห็นได้ว่าอาหาร คือ ทูตวัฒนธรรมทำให้ชาวต่างชาติได้รู้จักและเข้าใจวิถีชีวิตด้านอาหารของคนไทยมากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวต่างเดินทางเข้ามาสัมผัสพักผ่อนและชิมอาหารไทยที่มีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์อย่างแท้จริงนับเป็นการสร้างรายได้ให้เข้าประเทศไทยอีกด้วย
“สำหรับการรับสมัครสมาชิกสมาพันธ์เชฟประเทศไทยจะมีการแบ่งประเภทสามัญ เฉพาะ ผู้ประกอบอาชีพเชฟในประเทศไทยและต่างประเทศ ประเภทวิสามัญ จะเป็นกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนกลุ่มอาชีพเชฟ และสมาชิกประเภทองค์กร จะเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของสมาพันธ์เชฟฯ และกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป เช่น การจัดประกวดเชฟ ท้องถิ่นของกินพื้นบ้าน เพื่อยกระดับมาตรฐานเชฟท้องถิ่นได้มีเวทีสร้างสรรค์ผลงานและทักษะด้านอาหารในแต่ละชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่ง” ประธานสมาพันธ์เชฟประเทศไทยกล่าว