ช่วงวันที่ 17-19 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าความสำคัญของโนรา และการมีส่วนร่วมของศิลปิน ชุมชนโนรา และสถาบันการศึกษาในพื้นที่  

โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานกลางของประเทศ ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พร้อมทำหน้าที่ประสานมหาวิทยาลัยในพื้นที่ นำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อน และ สนับสนุนให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคนพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมที่จะดำรงรักษาภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน ที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศรับรอง ขึ้นทะเบียนโนรา (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติไว้อย่างยั่งยืน เพราะการรักษาที่ยังยืนจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน และความตระหนักรู้ ถึงคุณค่าของผู้เป็นเจ้าของ หรือคนในพื้นที่

โดยส่วนตัวเชื่อว่า โนรา มีความน่าประทับใจหลายมิติ ทั้งในการสร้างสัมพันธ์ของครอบครัว เครือญาติ และสังคม และมิติ ศิลปะการแสดง ความสวยงาม และ ภูมิหลังของความเป็นโนรา ที่เต็มไปด้วยคุณค่าของการดำรงชีวิต การสืบทอดสารต่อ การรักษาสุขภาพใจ สุขภาพกาย ที่สัมพันธ์ไปถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะการรักษาสุขภาพนั้น สามารถเชื่อมโยงไปถึงการใช้ธรรมชาติเพื่อทำยารักษาโรค และ อื่นๆ 

สำหรับกิจกรรม “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” มีการจัดแสดงผลงานที่น่าสนใจ อาทิ การแสดงโนราบันเทิง การแสดงโนราร่วมสมัย บูธภูมิปัญญาและศิลปะหัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโนรา และ นิทรรศการ “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” องค์ความรู้โนรา และ การส่งต่อ“กรรมสิทธิ์” จากครู ทั้งครูต้น ครูหมอตายาย และครูมนุษย์ที่ฝึกสอนร้องรำ และเชื่อมต่อ“โลก” รวมถึงการสืบทอดความเป็นโนราผ่านสายตระกูลเครือญาติ แม้ต่อมาจะมีการขยายสู่เครือข่ายในกลุ่มลูกศิษย์ที่นับถือครูโนราเดียวกัน หากแต่องค์ความรู้ในทางพิธีกรรม การตั้งหิ้งครูหมอตายาย ส่วนใหญ่ยังคงสงวนไว้ในกลุ่มลูกหลานที่เป็นทายาทโดยสายเลือด การส่งต่อความรู้เกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ท่วงท่าการร่ายรำ ตลอดจนการร้องทำบท สะท้อนถึงความหลากหลายของโนราในสายตระกูลต่าง ๆ ซึ่งสามารถสืบสาวโยงใยกลับไปหา “ครู” ที่เป็นบรรพบุรุษของแต่ละสายตระกูลได้ โดยความหลากหลายของสายตระกูลเหล่านี้กระจายอยู่ตั้งแต่ในเขตภาคใต้ตอนบน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เรื่อยไปจนถึงรัฐเคดาห์ ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย และ ความหลากหลายของสายตระกูลโนราไม่เพียงสะท้อนถึงความร่ำรวยทางศิลปวัฒนธรรมของความเป็นโนรา แต่ยังทำให้เห็นภาพของการสร้างระบบเครือญาติขนาดใหญ่ในเขตวัฒนธรรมภาคใต้ด้วย ความสัมพันธ์ของระบบเครือญาติในสายตระกูลโนราอันเข้มแข็งนี้ ยังคงปรากฏร่องรอยชัดผ่านพิธีกรรมและงานบุญต่างๆ 

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน กลุ่มผู้ชมที่กว้างเกินกว่า “วิญญาณครู” และคนในชุมชน ไปสู่กลุ่ม global citizen ในขณะที่โนราพยายามรักษาตัวตนที่มีแก่นแกนโยงกับ “ความศักดิ์สิทธิ์” ในอีกด้านหนึ่งการพยายามสืบทอดส่งต่อไปสู่กลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น ในการ“ผูกโรงใหม่” ในชุมชนโลก โนราปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ การปรับสู่รูปแบบความบันเทิง ซึ่งการปรับตัวต่าง ๆ สะท้อนถึงความพยายามหาจุดสมดุลระหว่าง “ท้องถิ่น” และ “สากล” ผ่านบทบาทศิลปินแห่งชาติ “ครูธรรมนิตย์ นิคมรัตน์” 

อย่างไรก็ดี นอกจากการแสดงผลงานโนราแล้ว ในงานเดียวกันนี้ ยังมีการเสวนาที่น่าสนใจ อาทิ  “สำรวจสถานะผู้หญิงในโลกโนรา” และ “เคลื่อนชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรม : Soft Power โนรา” ซึ่งเป็นเสียงสะท้อน ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ และ ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งสามารถนำไปหารือ เพื่อพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ ของหน่วยงานต่างๆ ได้อีกด้วย