“วีริศ” ปลื้ม ผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย ตอกย้ำความเป็น “Supply Chain” ที่แข็งแกร่งในสายตานักลงทุนญี่ปุ่น เผยตัวเลขดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีแรกไปได้สวย โดยยังอยู่ในแดนบวก แจงพร้อมนำทุกข้อกังวลมาปรับปรุงและพัฒนา เพื่อให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างยั่งยืน!
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ร่วมประชุมกับนายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ (เจโทร กรุงเทพฯ) ถึงผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCCB) ซึ่งพบว่า ภูมิภาคอาเซียนยังคงเป็นแหล่งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสำคัญทั้งเรื่องความพร้อมและการพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทานที่สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน โดยช่วงครึ่งปีแรก ปี 2566 ตัวเลขคาดการณ์ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (Diffusion Index : DI) ยังเป็นไปในแดนบวกต่อเนื่องจากปี 2565 ภาคอุตสาหกรรมการผลิต มีแนวโน้มว่าจะลงทุนเพิ่มด้านโรงงานและเครื่องจักร คิดเป็นร้อยละ 31 และบริษัทที่คาดว่าจะลงทุนคงที่ ร้อยละ 46 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 16 ที่คาดว่าอาจจะลงทุนลดลง ขณะเดียวกันยังมีการพูดถึงการคาดการณ์กิจกรรมการลงทุนในอนาคต หลังจากประเทศไทยได้มีการปรับปรุงระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยบริษัทส่วนใหญ่จะยังคงขนาดกิจการปัจจุบัน และขยายกิจการ รวมทั้งขยายกิจการโดยการย้ายฐานจากประเทศอื่นด้วย
โดยสิ่งที่ทางเจโทรนำมาเป็นหัวข้อหารือในครั้งนี้ ผมได้ชี้แจงไปหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปูนั้น กนอ.ได้เดินหน้าโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมแล้ว ทั้งการสร้างกำแพงกันน้ำ ปรับปรุงรางระบายน้ำ เพิ่มพื้นที่บ่อหน่วงน้ำ และติดตั้งระบบตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2567 ส่วนปัญหาราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาดโลกนั้น กนอ.พยายามที่จะหาลู่ทางพัฒนาโครงสร้างพลังงานเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยการร่วมมือกับ PEA Encom ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการส่งเสริมระบบบริหารจัดการพลังงานและโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รูปแบบการลงทุนในด้าน Smart Energy และ Smart Grid เพื่อยกระดับการพัฒนาธุรกิจ และการบริการผู้ประกอบการให้ได้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดและราคาถูก ขณะที่ปัญหาราคาค่าขนส่งโลจิสติกส์ ค่าแรง และการขาดแคลนแรงงานนั้น กนอ.จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขให้ตรงจุด ทั้งนี้ เรื่องไหนที่ กนอ.สามารถดำเนินการเองได้ จะนำข้อคิดเห็นในการประชุมมาปรับปรุงและพัฒนา เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมเป็นฐานของการลงทุนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งทั้ง กนอ.และเจโทรมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน โดยการเปลี่ยนหรือปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องจักรให้เป็นแบบประหยัดพลังงาน และการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ เช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การส่งเสริมการกำจัดและลดปริมาณกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธี และการรีไซเคิลขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
โดยการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เป็นหนึ่งในนโยบาย BCG ของรัฐบาล มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการลดคาร์บอนและมาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การใช้งาน ไปจนถึงการกำจัด ซึ่งการหารือในครั้งนี้ มีส่วนสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นที่สนใจจะมาลงทุนในประเทศไทย