วันที่ 16 มี.ค.66 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "นิธิพัฒน์ เจียรกุล"ระบุว่า...
ท่ามกลางข่าวโควิดที่สร่างซา ยกเว้นข่าวการรับบริจาควัคซีนไบวาเลนท์เพิ่มอีกหนึ่งล้านโด๊ส ที่เคยเล่าไปแล้วว่าใหม่ที่นี่แต่เก่ามาจากที่อื่น ประโยชน์จึงไม่มากมายนักตามที่หลายคนคาดหวัง แต่ข่าวเรื่องฝุ่นตลบได้มาแซงหน้าไปแล้วกว่าสัปดาห์
วันนี้จะมาเล่าเรื่องแรกเกี่ยวกับ เครื่องฟอกอากาศภายในที่พักแบบธรรมชาติ คือการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับมลพิษในตัวอาคาร ได้แก่ ฝุ่น PM, volatile organic carbons (VOCs), และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทีมนักวิจัยจากเกาหลีใต้ ทดลองใช้ต้น Ardisia japonica ที่ปลูกไว้ในตู้ทดลองที่ออกแบบเป็นพิเศษ เมื่อเติมอากาศที่มีมลพิษสูงรวมถึง PM2.5 ด้วย พบว่าเจ้าต้นไม้นี้ดูดซับมลพิษรวมถึงฝุ่นได้ดี โดยการวิเคราะห์มลพิษเหลือค้างในอากาศ และการนำใบไม้ไปส่องกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ดังรูป พบว่าการดูดซับจะเพิ่มขึ้นเมื่อรดน้ำน้อยและมีแสงสว่างคงที่ระดับหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ต้น Hedera helix พบว่าการดูดซับมีความต่างกันไปตามเงื่อนไขสภาพแวดล้อม ดังนั้นการเลือกชนิดพืชและการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศแบบธรรมชาติที่ไม่ต้องลงทุนมากนี้ได้
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/.../pdf/plants-10-02761.pdf
อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหารการกิน ทีมนักวิจัยได้ทำการติดตามคนอังกฤษจำนวนกว่าสี่แสนคน ไปเป็นเวลาต่อเนื่องนานราวเก้าปี โดยทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพในการกินอาหาร อัตราการเสียชีวิตจากโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด แล้วนำไปเชื่อมโยงกับอัตราการสัมผัสมลพิษทางอากาศในบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ พบว่าอัตราตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สูงขึ้นชัดเจน มีความสัมพันธ์กับปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น แต่สามารถลดลงได้ด้วยการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการกินผักในปริมาณที่มากพอ