จากกรณีที่ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาแถลงเพิ่มความมั่นใจให้กับชาวอเมริกันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการล่มสลายของธนาคารสองแห่งในประเทศ ที่ห่างกันเพียงไม่กี่วัน โดยมี ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ หรือ เอสวีบี สถาบันการเงินเพื่อสตาร์ทอัพ ตามด้วย ซิกเนเจอร์ แบงก์ หรือ เอสบี หนึ่งในสถาบันให้กู้ยืมขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมเงินคริปโต ว่า เงินฝากทุกดอลลาร์ในทุกบัญชียังปลอดภัยดี และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่สัญญาณว่า ภาคการธนาคารในอเมริกาจะหวนกลับไปเผชิญกับวิกฤตแบบเดียวกับเมื่อปี 2551 หรือ ปี 2008 เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำระบบตรวจสอบสถาบันการเงินทุกแห่งอย่างเข้มข้น
ขณะที่นักวิเคราะห์ทางการเงินกลับให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน ว่าเส้นทางสู่การล่มสลายของเอสวีบีและเอสบี มีความเหมือนกันโดยพื้นฐาน คือ ทั้งสองแห่งยึดมั่นการสร้างรายได้จากผลประโยชน์ ในการถือครองพันธบัตรรัฐบาล เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีนี้ จึงส่งผลให้ธุรกิจสตาร์ทอัพต้องการเงินทุนไปประคองธุรกิจจนเกิดปรากฏการณ์แห่ถอนเงิน เป็นผลให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง และบีบให้ต้องขายพันธบัตรในอัตราดอกเบี้ยต่ำจนขาดทุนอย่างหนัก
ซึ่งถ้าส่องดูวิกฤตการเงินในปี 2008 หรือ ปี 2551 ตามที่นักวิเคราะห์พูดถึงนั้น สถานการณ์เริ่มต้นจากวิกฤตการเงินรัสเซีย เรียกอีกอย่างว่า วิกฤตรูเบิล เมื่อ 17 ส.ค. 1998 รัฐบาลและธนาคารกลางรัสเซียประกาศลดค่าเงินรูเบิล และผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมไปถึงการก่อหนี้ต่องบประมาณไว้สูง และขาดดุลการคลังเรื้อรัง ผนวกกับปี 1997 เกิดวิกฤตที่เอเชียส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดิบและโลหะที่ไม่ใช่เหล็กลดลง กระทบอย่างรุนแรงต่อทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของรัสเซีย
จึงทำให้เวลาต่อมา IMF และ World Bank ได้อนุมัติเงินกู้ 22.6 พันล้านดอลลาร์ให้รัสเซียฟื้นสภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อในปี 1998 ของรัสเซียพุ่งถึง 84% แต่เศรษฐกิจของรัสเซียก็กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปีถัดมา จากราคาน้ำมันดิบโลกที่พุ่งสูงขึ้น และอุตสาหกรรมในประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการลดค่าเงิน
จนมาถึงวิกฤต The Great Recession 2008 ที่สถาบันการเงินในสหรัฐฯ ปล่อยกู้ไปมหาศาลในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ช่วงก่อนหน้า มีสัญญาณว่าจะกลายเป็น “หนี้สูญ” เนื่องจากเกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดด้านนี้ ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ดิ่งลงอย่างมาก และลูกหนี้สินเชื่อบ้านจำนวนมากทิ้งบ้านและเลิกผ่อนบ้านต่อ เพราะมูลค่าที่กู้สูงกว่าราคาบ้านอย่างมาก
วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2008
โดยวิกฤตดังกล่าวรู้จักกันไปทั่วโลก ว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ส่งผล Lehman Brothers หนึ่งในธนาคารเพื่อการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกล้มละลาย จนทำให้สถาบันการเงินและธุรกิจสำคัญ ๆ หลายแห่งต้องล่มสลายตามไปด้วย และจำเป็นต้องได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลในสัดส่วนที่ไม่เคยมีมาก่อน ต้องใช้เวลาเกือบทศวรรษกว่าสิ่งต่าง ๆ จะกลับมาเป็นปกติ
โดย GDP ของสหรัฐฯ ลดลง 4% ทำให้ความสามารถในการบริโภคของคนอเมริกันลดลง จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้การเติบโตของ GDP โลกลดลงจาก 5% ในปี 2007 เป็น 2% ในปี 2009 ขณะที่ IMF ประมาณการว่า หนี้สูญของสถาบันการเงินทั่วโลกอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ราคาน้ำมันตกลงกว่า 50% ซึ่งสถานการณ์ลากยาวจนถึงปี 2009 และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
จนมาถึง วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป เกิดขึ้นปลายปี 2009 ซึ่งกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปหลายประเทศได้แก่ กรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และไซปรัส ไม่สามารถใช้หนี้ที่รัฐบาลก่อไว้หรือก่อหนี้ใหม่ชดใช้หนี้เก่าได้ ถ้าไม่ได้รับความความช่วยเหลือของภาคีภายนอกอย่างกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ IMF
สุดท้าย วิกฤตการเงินล่าสุดเป็นผลมาจากวิกฤตโรคระบาดที่คุกคามมนุษยชาติไปทั่วโลก เศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ หยุดชะงักเพราะจำเป็นต้องล็อกดาวน์ โดยตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 2020 ของหลายประเทศที่หดตัวมากกว่าที่คาด และมีอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นทำลายสถิติทั่วโลก โดยเฉพาะจีนที่ GDP หดตัวครั้งแรกในรอบ 28 ปี หลายธุรกิจเสียหายอย่างหนัก แต่ขณะเดียวกันหลายธุรกิจก็เติบโตอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์นี้ เช่น บริษัทที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย การแพทย์ รวมถึงธุรกิจ อี-คอมเมิร์ช ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการที่ผู้คนจำเป็นต้องอยู่แต่ที่บ้าน
ดังนั้นด้วยเหตุผลของ วิกฤตการเงิน ที่เกิดขึ้นในอดีตแต่ละครั้ง นับเป็นตัวอย่างให้คนได้ศึกษาเรียนรู้นำมาปรับปรุง และประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน ด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์เทียบเคียงจากอดีต เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียและหาโอกาสในการลงทุน