เมืองแม่ฮ่องสอน ปกคลุมไปด้วยควันไฟป่า จนมืดทั่วเมือง ทัศนวิสัยวัดได้ เพียง 2,000 เมตร ค่าฝุ่นพิษเกินมาตรฐานต่อเนื่องมาแล้ว 31 วัน ค่าวันนี้ ( 13 ) เวลา 10.00 น. ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า 2.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร วัดได้ 225 มคก./ลบ.เมตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างหนัก
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน วัดได้ 225 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในระดับ สีแดง กระทบต่อสุขภาพ โดยสภาพบรรยากาศในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนวันนี้ ท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยหมอกควันจากไฟป่าหนาทึบ จนแสงอาทิตย์ส่องมาได้เพียงครึ่งเดียวสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า ส่งผลให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นทางอากาศลดต่ำเหลือเพียง 2,000 เมตร ซึ่งกระทบต่อการบินของอากาศยานทุกชนิด โดยเฉพาะเครื่องบินโดยสารที่ต้องการทัศนวิสัยในการมองเห็นที่ปลอดภัยต่อการบิน อย่างต่ำ 5,000 เมตร
สำหรับในตัวอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 13 มีนาคม 2566 ค่าฝุ่นพิษได้เกินมาตรฐานต่อเนื่องมาแล้ว 31 วัน ประชาชนส่วนใหญ่ที่ออกนอกบ้าน จะพากันใส่หน้ากากอนามัย โดยไม่ต้องบังคับให้ใส่เหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากการไม่ใส่หน้ากากอนามัยจะทำให้หายใจลำบากเพราะฝุ่นละอองจากควันไฟป่าลอยอยู่ในอากาศหนาทึบทำให้แสบตาแสบจมูกทุกคน และมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคภูมิแพ้ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก
ปัญหาฝุ่นพิษที่สร้างความทุกข์ยากต่อประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยส่วนหนึ่งมาจากฝุ่นพิษข้ามพรมแดน GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 9 มีนาคม 2566 ไทยพบจุดความร้อน จำนวน 1,533 จุด ในขณะที่พม่ายังนำโด่งจำนวน 5,743 จุด ลาว 2,412 จุด กัมพูชา 1,622 จุด เวียดนาม 396 จุด และมาเลเซีย 33 จุด
กรีนพีซระบุว่า จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของกรีนพีซที่ทำร่วมกับศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าในช่วงปี 2558-2563 พื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ในประเทศที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกทำลายและกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด ในจำนวนนี้ราว 5.1 ล้านไร่ อยู่ในประเทศลาวตอนบน รองลงมาคือรัฐฉานของเมียนมา (2.9 ล้านไร่) และภาคเหนือตอนบนของไทย (2.5 ล้านไร่) การขยายตัวอย่างรวดเร็วของพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวอย่างไร่ข้าวโพด ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนที่ทำให้เกิดการกระจายตัวและเพิ่มความเข้มข้นของมลพิษ PM2.5 อย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่า ราว 2 ใน 3 ของจุดความร้อนที่พบในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยู่ในพื้นที่ป่าและ ราว 1 ใน 3 (ของจุดความร้อน) พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพด...../ Cr. BIOTHAI