สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…  

แม้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งวันไหน แต่ที่แน่ๆ คือไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้แน่ และผู้มีสิทธิ์ร่วมกำหนดอนาคต -ชะตากรรมประเทศไทยผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ มีจำนวน 52,322,824 คน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 พบว่าจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ 3 คน จาก 30 คนเป็น 33 คน รองลงมา เพิ่มขึ้นจังหวัดละ 2 คน มี 5 จังหวัด คือ นนทบุรี จาก 6 คน เป็น 8 คน ชลบุรี จาก 8 คน เป็น 10 คน นครราชสีมา จาก 14 คน เป็น 16 คน  บุรีรัมย์ จาก 8 คนเป็น 10 คน เชียงใหม่จาก 9 คนเป็น 11 คน ...*...

จากข้อมูลที่ Rocket Media Lab ได้จำแนกช่วงวัยของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกเป็นเจเนอเรชั่นต่างๆ พบว่า เจเนอเรชั่น Z (ผู้มีอายุ 18-25 ปี)มี  6,689,453 คน คิดเป็นร้อยละ 12.78 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด เจเนอเรชั่น Y (ผู้มีอายุ 26-41 ปี )มี 15,103,892 คน คิดเป็นร้อยละ 28.87 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด เจเนอเรชั่น X (ผู้มีอายุ 42-57 ปี) มี 16,151,442 คน คิดเป็นร้อยละ 30.87 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด เจเนอเรชั่น Baby Boomers (ผู้มีอายุ 58-76 ปี) มี 11,844,939 คน คิดเป็นร้อยละ 22.64 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด เจเนอเรชั่น Silent (ผู้มีอายุ 77 ปีขึ้นไป) มี 2,533,098 คน คิดเป็นร้อยละ 4.84 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด …*…

 และพรรคที่ผลสำรวจของสำนักโพลต่างๆ ชี้ว่ามีโอกาสชนะเลือกตั้งมากสุดคือพรรคเพื่อไทย โดยไม่มีใครกังขาแต่อย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะในการเลือกตั้งก่อนหน้าเมื่อปี 62 แบบบัตรใบเดียว คะแนนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาจากการหาร 500 แถมเพื่อไทยยังส่งคนลงส.ส.เขตไม่ครบ เพื่อไทยก็ยังสามารถเข้าวินมาเป็นอันดับหนึ่ง …*…  

มาเลือกตั้งหนนี้ มีการแก้ไขกติกาใหม่ เปลี่ยนมาใช้แบบบัตร 2 ใบ และส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 อีกทั้งพรรคที่เคยเป็นคู่แข่งสำคัญคือพลังประชารัฐก็ไม่ได้เข้มแข็งเหมือนเดิม สถานการณ์ทุกอย่างจึงดูเหมือนจะเข้าทางพรรคเพื่อไทย กระทั่งออกมาประกาศจะกวาดชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ เพื่อกลับเข้ามายึดกุมอำนาจบริหารประเทศอีกครั้ง …*…

การแก้ไขระบบเลือกตั้งเป็นแบบบัตร 2 ใบ และส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หารร้อย อันเป็นการเอื้อประโยชน์ใหัแก่พรรคเพื่อไทยนั้น นำมาซึ่งข่าวลือดีลลับระหว่างคนแดนไกล กับแกนนำพรรคพลังประชารัฐในรูปแบบสัญญาต่างตอบแทน คือแกนนำพรรคพลังประชารัฐได้รับเก้าอี้นายกฯหลังเลือกตั้ง แลกกับการที่คนแดนไกลด้วยกลับบ้าน …*…

นั่นจึงไม่แปลก ที่ทำไมแม้หลายฝ่ายฟันธงสอดคล้องต้องกันว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ส.ส.มากที่สุด และมีโอกาสเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทว่า ไม่มีใครแน่ใจว่านายกฯจะเป็นแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย …*…

อีกทั้งคำถามที่พรรคเพื่อไทยถูกถามมากที่สุดระหว่างลงพื้นที่หาเสียงเวลานี้ นอกเหนือจากเรื่องการนำนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดีกลับประเทศไทยโดยไม่ต้องรับโทษใดๆ แล้ว อีกประเด็นก็คือเพื่อไทยจะจับมือกับพลังประชารัฐในการฟอร์มรัฐบาลหรือไม่ ...*...

 ที่ผ่านมา แกนนำพรรคเพื่อไทยไม่เคยแสดงท่าทีตรงไปตรงมาเหมือนอย่างเช่นพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างก้าวไกลที่ประกาศชัดเจนว่าจะไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ …*…  

อาการอ้ำๆ อึ้งๆ ของแกนนำพรรคเพื่อไทยจึงไม่ต่างอะไรกับการตอกย้ำเพิ่มน้ำหนักความน่าเชื่อถือให้กับข่าวลือดีลลับดังกล่าว …*…

ที่มา:เจ้าพระยา (9/3/66)