พล.ร.ต.สมบัติ จูถนอม เจ้ากรมการขนส่งทหารเรือ อนุมัติให้จัดกิจกรรมเนื่องในวันครบรอบการจัดตั้งกรมการขนส่งทหารเรือ ๑๒๐ ปี ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย
ในวันที่ 28 ก.พ.66 จัดกิจกรรมการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์พัฒนาพื้นที่วัดอินทรารามวรวิหาร เขตธนบุรี กทม. ร่วมกับสำนักงานเขตธนบุรี
ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2566 จัดพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระภูมิเจ้าที่ พิธีถวายสักการะพระอนุสาวรีย์พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองศ์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และพิธีทำบุญเลี้ยงพระ โดยมีแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานจำนวนมาก อาทิ อดีตเจ้ากรมการขนส่งทหารเรือ ได้แก่ พล.ร.อ.บุญปลอด มะม่วงแก้ว พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย พล.ร.ท.เดชดล ภู่สาระ และ พล.ร.อ.มาศพันธ์ ถาวรามร หัวหน้าหน่วยงานราชการในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ ผอ.โรงพยาบาลศิริราช ผช.ผอ.เขตบางกอกน้อย ผอ.โรงเรียนสตรีวัดระฆัง ผอ.โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย รอง ผอ.โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม และผู้นำชุมชนต่างๆ ในเขตบางกอกน้อย
ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2566 จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต ให้แก่ศูนย์รับบริจาคโลหิต โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ โดยมีกำลังพลร่วมบริจาคโลหิต จำนวน 60 นาย ปริมาณโลหิต 27,000 ซีซี
กรมการขนส่งทหารเรือก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ พลเรือตรีสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ “กรมทหารเรือ” จัดตั้ง “กองพาหนะ” หรือชื่อเต็มว่า “กองพาหนะกรมบัญชาการทหารขึ้นบกในกรุงเทพฯ” โดยมีหลวงพลพิฆาฏ (แว-ไวณุนาวิน) เป็นผู้บังคับการกองพาหนะ เพื่อทำหน้าที่รักษาเรือ และทำหน้าที่พาย ตลอดจนเป็นพลบริการหรือทหารรับใช้สำหรับกรมทหารเรือ เนื่องจากในสมัยนั้นกองพาหนะเป็นทหารเรือหน่วยบกเพียงหน่วยเดียวในกรุงเทพฯ ที่มีกำลังลูกแถว
(พลทหาร) อยู่เป็นจำนวนมาก กองพาหนะมีที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับกรมทหารเรือหรือพระราชนิเวศน์ (กองบัญชาการกองเรือลำน้ำ (เดิม)) ทั้งนี้จากหลักฐานในแผนที่ของกรมอุทกศาสตร์จัดทำขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๖๕ แสดงให้เห็นว่ากองพาหนะตั้งอยู่ที่อู่หมายเลข ๒ ของอู่ทหารเรือธนบุรีในปัจจุบัน จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๙๔ กองพาหนะได้ย้ายมาอยู่ที่ริมคลองมอญบริเวณสะพานชิโนรส (กองดุริยางค์ทหารเรือในปัจจุบัน) โดยใช้อาคารไม้ ๒ อาคาร ชื่อว่า เรือนระพีพัฒน์ และเรือนวัฒนา เป็นที่ทำการ ต่อมาเมื่อมีการรื้อเรือนทั้งสองหลัง จึงได้สร้างอาคารขึ้นในพื้นที่ใหม่ข้ามคลองไปทางทิศตะวันออกของพื้นที่เดิม และใช้เป็นที่ตั้งของกองบังคับการจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าอาคารที่สร้างเป็นกองบังคับการหลังแรกนี้ปัจจุบันคืออาคารเรียน โรงเรียนขนส่ง
กองวิทยาการ กรมการขนส่งทหารเรือ ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๙ กองพาหนะถูกเปลี่ยนชื่อ ๑๖ ครั้ง อาทิ กองพันพาหนะมณฑลทหารเรือที่ ๑ และกองพาหนะทหารเรือ กรมยุทธบริการทหารเรือ ในปี พ.ศ.๒๕๐๑
ใช้ชื่อ “กรมการขนส่งทหารเรือ” เป็นหน่วยขึ้นตรงสถานีทหารเรือกรุงเทพ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๒๘ มีการแบ่งส่วนราชการใหม่ปรับให้ กรมการขนส่งหารเรือเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ มีหน้าที่ให้บริการด้านการขนส่งและสนับสนุนยานพาหนะทั้งยวดยานบกและเรือในแม่น้ำ แก่หน่วยต่าง ๆ ในกองทัพเรือ และดำเนินการซ่อมทำยานพาหนะได้จนถึงขั้นโรงงาน ทำหน้าที่คลังใหญ่ ส่งกำลังสายขนส่ง และฝึกอบรมแก่ทหารขนส่ง