วันที่ 6 มีนาคม 2566 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สะสมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลัก ในช่วงเดือนธันวาคม ถึงเดือนเมษายน ซึ่งยานยนต์เป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามแผนเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 จึงให้ความสำคัญกับการควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ

โดยภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดทำโครงการ และมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันและลดฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะ เช่น โครงการ คลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5 สนับสนุนส่วนลดสำหรับค่าบำรุงรักษาและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เพื่อลดควันดำ และมีมาตรการตรวจรถควันดำ ได้เพิ่มจุดตรวจเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบตรวจจับ ระงับการใช้รถควันดำจนกว่าจะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องปรามมิให้มีรถควันดำเข้ามาในเขตเมือง เป็นต้น

ทั้งนี้ นายปิ่นสักก์ ยังกล่าวว่า มาตรการตรวจรถควันดำ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 - วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 คพ. ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถควันดำแบ่งเป็นพื้นที่ กทม. ตรวจสอบสะสม 109,696 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐานสะสม 23,707 คัน ห้ามใช้สะสม 1,503 คัน และพื้นที่ต่างจังหวัด ตรวจสอบสะสม 55,635 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐาน 1,367 คัน ห้ามใช้สะสม 1,367 คัน จากสถิติในภาพรวมพบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐานมีจำนวนประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ จากรถยนต์ที่เรียกตรวจ

อีกทั้งทางภาครัฐยังเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการตรวจจับควันดำ “ตรวจจับ ปรับจริง–ห้ามใช้รถควันดำ” บังคับใช้บทลงโทษสูงสุด ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับรถควันดำทุกประเภท ครอบคลุมถนนสายหลัก สายรอง ทั้งขาเข้า - ออก

ซึ่งประชาชนสามารถนำรถยนต์เข้ารับบริการได้ที่โครงการ คลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5 โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการรถยนต์ จำนวน 9 ราย ประกอบด้วย TOYOTA ISUZU MITSUBISHI NISSAN MAZDA FORD HONDA SUZUKI และ HINO ซึ่งมีจำนวน 1,774 ศูนย์บริการฯ รองรับรถยนต์เข้าร่วมโครงการฯ 426,000 คัน สนับสนุนส่วนลดสำหรับค่าบำรุงรักษาและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เพื่อลดควันดำ