จากกรณีที่ นายแพทย์ กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เผยแพร่ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ว่า เช้านี้ได้ตื่นขึ้นมาพร้อมกับค่าฝุ่น 186 ในห้องที่กำลังรอรับการฉายแสง ไม่ได้บอกว่า ฝุ่นควันในเชียงใหม่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เป็นมะเร็ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผล ปัจจุบันผลการศึกษามากมาย มันพิสูจน์มาหมดแล้ว และตอนนี้อาการไม่สู้ดีนัก กำลังเข้ารับการรักษาด้วยการฉายแสงให้กับมะเร็งในสมองก้อนใหม่
ล่าสุดวันที่ 2 มีนาคม 2566 มีรายงานค่าฝุ่น PM2.5 เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” เวลา 09.00 น. พบว่าในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ อาทิ น่าน พะเยา เชียงราย แพร่ ตาก ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ อยู่ระดับสีแดงที่มากกว่า 90 ไมโครกรัม ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ ในขณะที่ทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร อยู่ระดับสีส้มที่เริ่มจะมีผลต่อสุขภาพ
ซึ่งในเรื่องนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ได้ระบุถึง 5 โรคร้ายที่รับผลกระทบรุนแรงจากฝุ่น PM 2.5 ซึ่งสามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย และทำลายระบบอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดโรคเรื้อรังและมะเร็ง มีดังนี้ 1. โรคระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปอดเกิดการอักเสบ ระคายเคือง และเป็นโรคระบบทางเดินหายใจได้ 2. โรคถุงลมโป่งพอง อาจทำให้เกิดมะเร็งปอด (แม้ไม่ได้สูบบุหรี่) 3. โรคผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอักเสบ และเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง 4 โรคหัวใจและหลอดเลือด การสูดฝุ่นเข้าไปมากๆ ทำให้เลือดข้นได้ และทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น 5.โรคเยื่อบุตาอักเสบ ทำให้ระคายเคือง อักเสบ ตาแห้ง ตาแดง แสบตา คันตา