นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันปัจจุบันทำงานวิจัยระดับปริญญาเอกด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ Aston University ประเทศอังกฤษ
นายณัฐพงศ์ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องความเหลื่อมล้ำมีทุกประเทศและมีมานานแล้ว ในประเทศไทยเริ่มเห็นปัญหาเหลื่อมล้ำชัดเจนประมาณ 8-10 ปีที่แล้ว มันเกิดจากการที่เราไม่ได้ปรับตัวหรือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตามโลก ตามระบบเศรษฐกิจใหม่ ๆ ของโลกเช่นการค้าขายทุกวันนี้ เป็นค้าขายออนไลน์แล้ว แต่ปัญหาคือ รายได้ไปเพิ่มบนแพลตฟอร์มของต่างชาติ และเขาไม่ได้เสียภาษีในประเทศไทยเพราะไม่มีสำนักงานอยู่ในไทย ระบบทุนของโลกที่เปลี่ยนไปช่วง 5-6 ปีก่อน เมืองไทยดังมากเรื่องกองทุนร่วมทุน (Venture Capital) แต่กลายเป็นว่า VC ไปบูมที่สิงคโปร์ เพราะเขาสามารถออกกฎหมายบางอย่างเอื้อการลงทุนแบบ VC เป็นสิ่งที่น่าเสียใจว่าธุรกิจไทยที่เติบโตในไทยก็ไปจดที่สิงคโปร์เพราะเข้าถึงเงินทุนง่ายกว่าประเทศตัวเอง โครงสร้างพวกนี้ที่เราไม่ได้ปรับตามโลก สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ ทำให้นักธุรกิจไทยมีปัญหา ขณะเดียวกันมันทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการทำธุรกิจอีกด้วย
ทั้งนี้ถ้าพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกคือ ตัวนโยบายรัฐบาลเอง ปัจจุบันในเวทีโลก เขาจะไม่พูดถึงว่าประเทศไหน GDP สูงกว่าใคร แต่เขาจะดูความรุ่งเรืองที่เพิ่มขึ้นมันกระจายไปสู่ประชาชน ใครกระจายได้ดีกว่ากัน รอบ 5 ปีที่ผ่านมาจึงมีคำว่า SDG (Sustainable Development Goals) หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการเติบโตไปด้วยกัน แบ่งผลประโยชน์กันอย่างเท่าเทียม ยกตัวอย่าง ประเทศจีนยังเน้นความรุ่งเรืองที่เท่าเทียมกัน สิ่งที่สีจิ้นผิงทำคือ การกระจายงบประมาณไปยังมณฑลต่างๆให้เติบโตเพื่อแก้ปัญหาความยากจน กระจายงบประมาณพัฒนาสาธารณูปโภคไปยังทุกองค์กรท้องถิ่น
ส่วนรัฐบาลจะดูแลเรื่องกฎหมายผูกขาด นโยบายเหนิอตลาด ดูเรื่องการจ่ายภาษีให้เท่าเทียม คนมีมากเสียมาก คนมีน้อยเสียน้อย รัฐบาลจีนเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก คนรวยต้องเก็บภาษีมากๆ เพื่อนำความร่ำรวยมากระจายสู่คนข้างล่าง แต่คำถามคือ เราเคยเห็นนโยบายแบบนี้หรือไม่ หลักคิดของรัฐบาล คือ ต้องเสียภาษีเท่ากัน เป็นเหตุให้กิจการเอสเอ็มอี ใช้วิธีหนีภาษีด้วยการทำบัญชี 2 เล่ม มันเป็นความคิดแบบโบราณ เราต้องเปลี่ยน เรามีองค์กรปกครองท้องถิ่น อย่างอบจ. อบต. ควรใช้กฎหมายร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในกิจการของรัฐ (PPP) เปิดทางให้ท้องถิ่นได้รับการพัฒนาที่รวดเร็วขึ้น และพัฒนาในแบบที่เขาต้องการโดยไม่ต้องรองบประมาณส่วนกลาง เพียงแค่แก้กฎหมายนิดเดียวก็สามารถเปิดช่องให้ทำได้
สำหรับส่วนที่สองคือ ในภาคการเงินมี 4 ปัญหาที่ไม่ทำไม่ได้คือ 1.เรื่องส่วนต่างดอกเบี้ย (Spread) ประเทศไทยเคยติดอันดับประเทศที่มีส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากที่สูงที่สุดในดลกมาแล้ว โดยฝากเงินได้ไม่ถึง 1% แต่พอกู้เงิน จ่าย 7-8% ผลคือ ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการสูง ขณะที่การฝากเงินคือ การสะสมความมั่งคั่งอย่างหนึ่งเพราะได้ดอกเบี้ย ตอนนี้ความมั่งคั่งลดแต่ต้นทุนเพิ่ม กลายเป็นว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่เขาไม่สามารถสะสมความมั่งคั่งได้ ในภาพรวมคือ เขาจะจนเร็ว ยิ่งอายุมากยิ่งจนเร็ว 2.ดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างรายเล็กกับรายใหญ่ต่างกันลิบลับ ดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ 1% กว่า ขณะที่รายเล็กอยู่ที่ 7-8% ดังนั้นนักธุรกิจ 2 คน ทำในเรื่องเดียวกันแต่มีต้นทุนต่างกัน ทำยังไงก็แพ้เพราะต้นทุนแพ้ตั้งแต่ต้น ดังนั้นปล่อยโครงสร้างนี้ต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและกระทบต่อทุกคนคือ SME จะตายเรื่อยๆจะเข้าสู่สังคมลูกจ้างแทน คำถามคือ สังคมลูกจ้างไม่ใช่สังคมรากฐานของคนไทย เมื่อเข้าสู่สังคมลูกจ้าง ประเทศต้องพร้อมกับการเป็นรัฐสวัสดิการ เพราะลูกจ้างอายุ 60 ปี รัฐบาลมีความพร้อมในการให้สวัสดิการหรือไม่ หากไม่มีความพร้อมก็ไม่ควรผลัก SME ให้ไปสู่สังคมลูกจ้าง
3.ปัญหาหนี้เอสเอ็มอี ซึ่งกลัวกันมากว่า ปล่อยกู้มากๆ ไม่เข้มงวด จะเป็นหนี้เสียเยอะนั้น ถ้าดูให้ละเอียด จะพบว่า หนี้เสียของรายเล็ก หากนับรายหัวยังมีสัดส่วนต่ำกว่าหนี้รายใหญ่ หนี้คนตัวเล็กต่อให้ล้มทั้งหมด ก็ไม่ทำให้สถาบันการเงินล้ม แต่สถาบันการเงินจะล้มเพราะรายใหญ่ แต่รัฐกลับออกนโยบายแบบเหมารวมที่ทำให้รายเล็กเสียเปรียบ เช่น นโยบายโกดังพักชำระหนี้ กำหนดเงื่อนไขที่เอสเอ็มอีไม่สามารถทำได้
4.เรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินของคนตัวเล็กตัวอย่างเช่น รายย่อยต้องการกู้เงิน 80,000 บาทจากธนาคารรัฐ ทำไมต้องเช็กเครดิตบูโร ถ้าเกิดติดเครดิตบูโร แม้ว่าจะเป็นช่วงโควิด-19 ระบาด แบงก์ปฏิเสธการให้กู้ เป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่ Make Sense กฎเกณฑ์เหล่านี้ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นหลักปฏิบัติข้อตกลงระหว่างสถาบันการเงินกันเอง ซึ่งสามารถยกเว้นชั่วคราวได้หรือไม่เช่น ยกเว้นเครดิตบูโรสำหรับการกู้เงินต่ำกว่า 100,000 บาทเป็นเวลา 1 ปี เป็นต้น
ทั้งนี้ช่วงโควิด 3 ปีทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมจนควบคุมไม่ได้ สุดท้ายผลเสียเกิดกับประเทศ ไทยจะไปแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างไร ถ้าบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดมานานหลายสิบปี แต่ตอนนี้เราจะแก้ปัญหาแบบเดิมๆไม่ได้แล้ว ไม่แปลกใจว่า ทำไมวันนี้เวียดนามแซงเราในบาง Sector แล้ว ทำไมวันนี้เกาหลีไปไกลมากเรื่อง Soft Power ทั้งๆที่สมัยก่อนประเทศไทยมีเยอะมาก Soft Power ของเรายังมีเสน่ห์ ยังขายได้อยู่ แต่ต้องจริงจังกับมัน
โดยปัญหาความเหลื่อมล้ำจะต้องเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาล และทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ และบูรณาร่วมกันอย่างจริงจัง ซึ่งถือว่า เป็นแนวโน้มที่ดีที่ปัจจุบันเริ่มมีการพูดกันมากขึ้น เกือบทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญ ใช้เป็นนโยบายหลักในการหาเสียง ส่วนเรื่อง SDG ไทยเรามีเรื่อง BCG (โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลักคือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องเดียวกัน คนไทยคุ้นเคยกับแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่ง SDG ซ้ำกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ 10 เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นการคิดที่ล้ำหน้า พระองค์ท่านทรงใช้คำง่ายๆในการอธิบาย ฝรั่งทำเป็นทฤษฎี แต่จริงๆแล้วคือ แนวเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเองคือ ทำให้ตัวเองอยู่ได้ ที่เหลือค่อยขาย
ทั้งนี้ปัจจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำจะไปแสดงออกในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำมันถ่างออกมากขึ้น จากผลของโควิดมันบีบคั้น คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ มันเหมือนน้ำเดือดเต็มที่ ดังนั้น พรรคการเมืองไหนทำให้ประชาชนทุกกลุ่มรู้สึกว่าได้รับการดูแล พรรคไหนตอบโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำได้ อย่างเช่น การเสนอนโยบายพักหนี้ ทำให้คนรู้สึกว่า ได้รับการใส่ใจปัญหาที่เจอ พรรคนั้นจะชนะ แต่ถ้าได้เป็นรัฐบาลแล้วไม่จัดการเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง ก็บริหารประเทศไม่ได้เช่นกัน