วันที่ 26 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ประชาชนและเกษตรกรในหหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะที่อาศัยและทำการเกษตรอยู่ริมถนนสายอำเภอเทิง-เชียงของ จ.เชียงราย ต่างเร่งทำการเผาพื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่รกร้างแและพื้นที่อยู่อาศัย เพื่อเตรียมพื้นที่แปลงเพาะปลูกและจำกัดเศษวัชพืช ก่อนที่ทางจังหวัดจะประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาด ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ส่งผลทำให้มีหมอกควันคละคลุ้งทั่วบริเวณ จนเห็นสภาพอากาศปิดและส่งผลทำให้การมองเห็นตามท้องถนนขณะขับขี่ยานพาหนะตามท้องถนนสั้นลง แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะส่งผลกระทบต่อการขับขี่และยังไม่ส่งผลทำให้ค่าฝุ่นละอองในอากาศเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยกรมควบคุมมลพิษวัดค่า PM 2.5 ได้ 34 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า PM 10 ได้เพียง 54 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เท่านั้น ซึ่งยังเป็นคุณภาพอากาศที่ดี ส่วนหนึ่งมาจากการที่ในพื้นที่ยังมีลมพัดแรงทำให้หมอกควันกระจายตัวและถูกพัดพาไปยังพื้นที่อื่นๆ
อย่างไรก็ตามล่าสุด นายพุฒิพงษ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ขอความร่วมมือประชาชนและเกษตรทั้ง 18 อำเภอ หลีกเลี่ยงการเผาเพื่อลดการสะสมของหมอกควันไฟ พร้อมกับออกประกาศห้ามการเผาในที่โล่งทุกชนิดโดยเด็ดขาด 60 วันปลอดการเผา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมีผลบังคับตั้งต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ -15 เมษายน 2566 โดยให้ทางหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งเป็นแบบอย่าง ไม่เผาวัสดุทุกชนิด และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบละปฎิบัติอย่างเคร่งครัด ในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม ห้ามเผาขยะมูลฝอย กิ่งไม้ใบไม้ และห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิด หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก 3 เดือน และปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ยังมีการห้ามเผาในพื้นที่ป่า ป่าสงวนห่งวงชาติ อุทยานแห่งชาติ วนอทุยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก 1 ปีถึง 30 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 3 ล้านบาท รวมไปเขตพื้นที่ทางหลวง และทางหลวงท้องถิ่นต่างๆ หากตรวจพบพื้นที่ใดมีไฟและเกิดจุดความร้อน(hotspot) ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหัวหน้าส่วนงานที่รับผิดชอบพื้นที่นั้นๆ และนายอำเภอ ต้องเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อรายงานสถานการณ์พร้อมแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนทันที